การเงินธนาคาร

วิสัยทัศน์ใหม่พญามังกร…ก้าวสู่ผู้นำนวัตกรรมโลก

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนจัดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นประจำทุก 5 ปี ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณทิศทางการดำเนินนโยบายจีนในอนาคต ในครั้งนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) แถลงวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลถึงปี 2593 ในการนำพาประเทศจีนสู่ยุคใหม่ โดยสานต่อนโยบายเดิมทั้ง Rebalancing เศรษฐกิจ ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพึ่งพาการบริโภคในประเทศและสนับสนุนภาคบริการมากขึ้น รวมทั้งการเร่งเครื่องอภิมหาโครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งหลายประเด็นข้างต้นได้ถูกกล่าวถึงผ่านสื่อต่างๆ ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นจากการประชุมครั้งนี้ที่น่าสนใจและไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก คือ การที่จีนตั้งเป้าอย่างชัดเจนสู่ผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก (Global Leader in Innovation) ภายในปี 2593 ผ่านการเร่งรัดพัฒนานวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในภาคการผลิตและภาคบริการ อาทิ Big Data, Artificial Intelligence และ Industrial Cloud เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมและผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะเปลี่ยนผ่านจีนจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตสินค้าต้นทุนต่ำหรือการผลิตจำนวนมากสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งนี้ จีนจะสามารถก้าวสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ นับเป็นประเด็นท้าทายที่จะได้กล่าวถึงต่อไป

 

แกะรอยพญามังกร…โอกาสก้าวสู่ Global Leader in Innovation

 

 

            จากการประชุมในครั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นวาระที่ 2 และมีแนวโน้มสืบอำนาจต่อไปอันจะเป็นผลดีด้านความต่อเนื่องในการสานต่อนโยบายและโครงการต่างๆ ซึ่งนอกจาก Belt and Road Initiative ที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางแล้ว การมุ่งสู่ Global Leader in Innovation ก็เป็นนโยบายที่สำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เริ่มดำเนินการแล้วและกำลังเร่งสานต่อให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นผ่านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม “Made in China 2025” หรือ MIC 2025 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้กองทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและ Start-up วงเงิน 40 พันล้านหยวน โดยเน้นสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและสินค้านวัตกรรมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดให้เข้าสู่ Industry 4.0 ที่จะใช้ระบบการผลิตแบบ Smart Factory ที่จะทำให้สามารถผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบและแตกต่างกันเป็นจํานวนมากในเวลารวดเร็ว รวมถึงบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ที่จะเชื่อมโยงการทำงานทั้งระบบผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทนแรงงานคน

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลจีนยังมีแผนพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศให้ครอบคลุมและ
มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ Fixed Broadband เป็น 85% และ 70% ในปี 2563 จาก 57% และ 40% ในปี 2558 ตามลำดับ เพื่อเสริมฐานรากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ขยายตัวไปยังเมืองรองและพื้นที่ชนบทมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันหลายเมืองใหญ่ได้เข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ ที่การใช้ระบบดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างสำคัญ คือ การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างเต็มตัว ถึงขนาดว่าชาวเซี่ยงไฮ้ที่ควักเงินสดขึ้นมาชำระค่าสินค้า/บริการอาจถูกมองราวกับเป็นเรื่องน่าประหลาด ขณะเดียวกันในแง่สถิติพบว่าในปี 2559 ยอดชำระค่าสินค้าผ่านมือถือของจีนสูงถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 112 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงกว่า 50 เท่าตัว นอกจากนี้ มีข้อพิสูจน์อื่นๆ เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของจีนที่กำลังปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น อาทิ

  • จีนเป็นประเทศรายได้ปานกลางประเทศแรกและประเทศเดียวที่ติด Top 25 ของ The Global Innovation Index (GII) ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของ 127 ประเทศทั่วโลก โดยจีนอยู่ในอันดับที่ 22 นับเป็นปีที่ 2 ที่จีนติด Top 25 ต่อเนื่องจากปี 2559 ที่จีนอยู่ในอันดับที่ 25 ซึ่งที่ผ่านมามีเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้นที่ติดอันดับดังกล่าว เนื่องจากการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมอย่างจริงจังของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะนโยบายด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเอื้อให้บริษัทจีนเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี สะท้อนจากค่าใช้จ่ายด้าน R&D ต่อ GDP ของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1% ในปี 2559 จาก 1.8% ในปี 2554 ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อากาศยานไร้คนขับ (Drone) และรถยนต์ไฟฟ้า
  • บริษัทจีนติดอันดับบริษัทด้านธุรกิจอินเทอร์เน็ตและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยักษ์ใหญ่ระดับ Top 25 ของโลก (วัดจากรายได้) คือ Alibaba Group, Tencent, Baidu, NetEase สะท้อนว่าบริษัทจีนมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับแนวหน้าของโลก สอดคล้องกับข้อมูลภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยขยายตัวถึง 19% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 22.6 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของ GDP จีน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 50% ในปี 2573
  • ข้อมูลการขอจดสิทธิบัตรปี 2559 ของ The World Intellectual Property Organization (WIPO) พบว่ามีบริษัทจีนยื่นขอจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อน โดยบริษัทจีน คือ Zte Corp. และ Huawei ขึ้นแท่นอันดับ 1 และ 2 ในรายชื่อผู้ขอจดสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก นำหน้าบริษัทชั้นนำสัญชาติสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นับเป็นอีกภาพสะท้อนศักยภาพของบริษัทจีนในแง่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่างจากเดิมที่จีนมักมีภาพลักษณ์ในแง่มุมของการลอกเลียนแบบสินค้า
  • รายงานการส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่ม จัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) พบว่าในปี 2554 จีนเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่มมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของการส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่มทั้งโลก
    โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี

            การพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของภาคเอกชนที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เมื่อประกอบกับ
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ ตลอดจนการเตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาจช่วยให้การก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของจีนนั้นไม่ไกลเกินเอื้อม

 

ความท้าทายต่อไทย...หากพญามังกรก้าวขึ้นเป็นประเทศนวัตกรรมชั้นนำของโลก

            จากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (พิจารณารายประเทศ ซึ่งไม่รวมกลุ่ม EU) และขนาดตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจนวัตกรรมและตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของจีนถือเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกและของไทย โดยภาพใหญ่ระดับโลก การที่จีนมุ่งสนับสนุนและผลิตสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น อาทิ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้า โดรนรับส่งสินค้า และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น มีแนวโน้มทำให้ราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าวถูกลง ซึ่งคล้ายกับในอดีตที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายสินค้าที่จีนกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า แผงโซลาร์ เป็นต้น โดยราคาที่ถูกลงจะมีส่วนเกื้อหนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม/ธุรกิจปลายน้ำ รวมทั้งเป็นแรงส่งผ่านให้อุตสาหกรรมทั่วโลกก้าวสู่ยุค 4.0 ได้เร็วขึ้น ในขณะที่การเร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ Belt and Road Initiative จะเป็นอีกหนึ่งแรงส่งที่ทำให้จีนมีเส้นทางโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้านวัตกรรมไปภูมิภาคสำคัญทั่วโลกได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

            สำหรับผู้ประกอบการไทย การก้าวสู่ประเทศนวัตกรรมชั้นนำของจีนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างทั้งโอกาสและความท้าทาย เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยมายาวนาน โดยจีนก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนราว 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2559 โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นต้น/ขั้นกลาง อาทิ ยางพาราแปรรูปขั้นต้น เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สะท้อนว่าภาคส่งออกของไทยมีความเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตของจีนอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งการที่จีนปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ไทยต้องปรับโครงสร้างการผลิตตาม เพื่อให้สามารถเกาะกระแสและยังอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนและของโลกได้ ซึ่งมีข้อพิจารณา ดังนี้

  • ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้ากับจีน : ควรเร่งปรับตัวในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อก้าวกระโดดให้ทันกับการพัฒนาของจีนและสามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลจีนสนับสนุน รวมทั้งหาช่องทางสร้างความร่วมมือเป็นพันธมิตรร่วมทุนหรือการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มการค้าใหม่ในระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงตลาดจีนที่ปัจจุบันทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อของจีนส่วนใหญ่อยู่ในช่องทางการค้าออนไลน์กันแล้ว
  • ผู้ประกอบการที่เป็นคู่แข่งกับจีน : ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จีนให้การสนับสนุนและกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในเวทีโลก โดยเฉพาะในหลายอุตสาหกรรมที่ตรงกับนโยบายสนับสนุนของไทย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของจีนควรพิจารณาวางกลยุทธ์และการปรับตัวอย่างรอบคอบ โดยอาจใช้แนวทางดึงพันธมิตรผู้ประกอบการจีนให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วยเพื่อต่อยอดเทคโนโลยี หรือหาจุดต่างด้วยการผลิตสินค้าที่ไทยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่ม (Niche) เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับจีนในตลาดโลก

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า จีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทั้งด้วยขนาดเศรษฐกิจและตลาดที่ใหญ่ รวมทั้งยังได้รับสมญานามว่าเป็น “โรงงานของโลก” ทำให้การปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ของจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากประเทศแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกและเน้นการผลิตเป็นจำนวนมาก สู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงด้วยการใช้นวัตกรรม ไม่เพียงจะพลิกโฉมจีนสู่ยุคใหม่ แต่จะเป็นการพลิกโฉมโลกสู่เศรษฐกิจยุคใหม่อีกด้วย ผู้ประกอบการไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่อาจเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • ส่องนโยบายพญามังกร…เร่งปรับทัพรับมือสงครามการค้า

    สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทั่วโลก เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจน...

    calendar icon25.11.2019
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
Tag
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview