การเงินธนาคาร

National Development Banks (NDBs) ... น้ำมันหล่อลื่นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต

ผ่านมาเป็นเวลากว่าปีครึ่งแล้วที่วิกฤต COVID-19 ได้สร้างรอยแผลให้กับทุกภาคส่วนของโลกและฉุดให้โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกหดตัวถึง 3.3% ถือเป็นภาวะเศรษฐกิจชะงักงันครั้งใหญ่หลังวิกฤตการเงินโลกปี 2552 เนื่องจากการดำเนินมาตรการ Lockdown และมาตรการ Travel Restriction เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง และธุรกิจเกือบทุกภาคส่วนต้องเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง จนนำไปสู่การปิดกิจการหรือเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นทอดๆ ต่อเครือข่ายทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็นที่มาของการเร่งอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลผ่านมาตรการทางการเงินและการคลังของหลายประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบ ทั้งนี้ โดยทั่วไปบทบาทการเยียวยาเศรษฐกิจจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจในบางครั้งเกิดผลกระทบรุนแรงมาก และจำเป็นต้องมีภาคส่วนอื่นเข้ามามีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถาบันการเงินซึ่งถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองทางการเงินสำคัญให้กับภาคธุรกิจ จึงถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่มีบทบาทในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตได้ในปัจจุบัน 

บทบาทของสถาบันการเงินในการเยียวยาเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤต

          จากวิกฤตที่ส่งผลกระทบกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาหลายประเทศต้องเผชิญกับการขาดแคลนงบประมาณในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาด สถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างเช่นธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) มีบทบาทอย่างมากในการเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศต่างๆ ผ่านเครื่องมือทางการเงินหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน โดยนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนถึงปัจจุบันธนาคารโลกได้อนุมัติเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนากว่า 100 ประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข รวมไปถึงการสนับสนุนการจัดหาวัคซีน เป็นวงเงินรวม 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชียได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 40 ประเทศในปี 2563 เป็นวงเงินรวมกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

          สำหรับสถาบันการเงินในประเทศต่างๆ ถือว่ามีบทบาทมากเช่นกัน เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ สถาบันการเงินประเภท National Development Banks (NDBs) ที่ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มักก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกหนึ่งที่คอยเยียวยาภาคธุรกิจร่วมไปกับมาตรการของภาครัฐ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มักจำกัดการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสีย ซึ่ง NDBs จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการปล่อยสินเชื่อเพื่อพยุงภาคธุรกิจในช่วงดังกล่าว โดยจากการสำรวจ Global Survey of Development Banks ของ World Bank ระบุว่าในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2552 NDBs สนับสนุนทางการเงินเพิ่มขึ้นถึง 36% จากปี 2550 เทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่สนับสนุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเพียง 10% สำหรับวิกฤต COVID-19 ในปัจจุบัน บทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของแต่ละประเทศมีตัวอย่างให้เห็น ดังนี้

  • China Development Bank (CDB) ของจีน ให้การสนับสนุนทางการเงินผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiatives ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนทั้งสกุลเงินท้องถิ่นและสกุลเงินต่างประเทศ รวมถึงการขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้
  • German Development Bank (KfW) ของเยอรมนี มีบทบาทสำคัญในช่วงวิกฤต COVID-19 ด้วยการจัดสรรเงินช่วยเหลือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงราว 4 แสนล้านยูโร ซึ่งราว 38% ของวงเงินดังกล่าวเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ทั้งภายในประเทศและกลุ่มประเทศพันธมิตรทั่วโลก อาทิ ตุรกี ยูเครน ซูดาน เคนยา และอินเดีย สำหรับมาตรการช่วยเหลือส่วนใหญ่เน้นการให้บริการด้านสินเชื่อเป็นหลัก โดยมีการปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการสินเชื่อเดิมให้ยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการริเริ่มโครงการสินเชื่อเงินด่วนรูปแบบใหม่สำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน 100%
  • Brazilian Development Bank (BNDES) ของบราซิล มีมาตรการสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ครอบคลุมกว่าการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจ อาทิ โครงการสนับสนุนการจ้างงานฉุกเฉิน สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม สินเชื่อเพื่อการผลิต ตลอดจนการพักชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ชั่วคราวสูงสุด 6 เดือน โดยตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 BNDES ให้การสนับสนุนทางการเงินเป็นวงเงินราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 3.9 แสนราย

บทบาทการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ NDBs หลังวิกฤต COVID-19

สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังวิกฤต COVID-19 ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจาก COVID-19 ไม่ได้เป็นปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีบริบทโลกอื่นๆ อาทิ การเข้าสู่ยุคดิจิทัล การปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก กระแสธุรกิจสีเขียว และการ Disruption ของธุรกิจบางประเภท ที่ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในระยะข้างหน้า ดังนั้น NDBs จะมีส่วนสำคัญในการมุ่งเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 ในมุมต่างๆ อาทิ

  • สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต ตัวอย่างเช่นการสนับสนุนการลงทุนในโครงข่าย 5G และ Data Center ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลที่ถือเป็นกระแสหลักของโลกในระยะข้างหน้า หรือการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างระบบขนส่งทางรางที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ของประเทศ
  • สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ เพื่อให้ประเทศมีเครื่องยนต์ใหม่ในการต่อสู้ในสมรภูมิการค้าโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นกรณีของการสนับสนุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุน เนื่องจากแนวโน้มที่ยานยนต์ EV จะทดแทนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องตามกระแสใส่ใจสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศ
  • สนับสนุนการลงทุนที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่ง NDBs นับเป็นฟันเฟืองที่จะผลักดันทิศทางของภาคธุรกิจให้มีความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขของประเภทธุรกิจที่ให้การสนับสนุนทางการเงินว่าจะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับได้ ไปจนถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
  • ขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ครอบคลุมภาคธุรกิจมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการทุกระดับ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งต้องเผชิญผลกระทบที่รุนแรงในช่วงวิกฤต COVID-19 รวมถึงธุรกิจ Startup ที่ส่วนหนึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือการประยุกต์แนวคิดใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความหลากหลาย รวมถึงสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ที่จะก้าวขึ้นเป็นธุรกิจศักยภาพขนาดใหญ่ได้ในอนาคต

สำหรับสถานการณ์ของไทยก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตในครั้งนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีภารกิจสอดรับกับการเป็นหนึ่งใน NDBs ที่สำคัญของไทย ก็คงจะผลักดันภารกิจสำคัญดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ และสามารถก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่งเพื่อรับมือกับวิกฤตใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview