Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
-
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และเตรียมกลับมาดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในระดับสูงสุดอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประเทศพันธมิตรฝั่งยุโรป
-
การถอนตัวดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบระลอกใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงประเด็นด้านการเมืองระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องจับตามอง
ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (JCPOA) ที่ลงนามในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา และเตรียมกลับมาดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในระดับสูงสุดอีกครั้ง ตามที่เคยหาเสียงไว้ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประเทศพันธมิตรทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ที่เกรงว่าการถอนตัวดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาความไม่สงบรอบใหม่และอาจก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งหลังจากนี้ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองระหว่างประเทศและด้านเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจอิหร่าน
ความสำคัญของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน นับตั้งแต่ต้นปี 2559 สหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจอีก 5 ประเทศ (P5+1)* ได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ 2231 เกี่ยวกับการยกเลิกและผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งเป็นการรับรองแผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action : JCPOA) หรือที่เรียกว่าข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งอิหร่านร่วมลงนามกับ 6 ประเทศมหาอำนาจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 และมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2559 โดยประเทศมหาอำนาจจะทยอยผ่อนคลาย/ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขว่าอิหร่านจะไม่ทดลองโครงการใดๆ เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการจำกัดการแปรรูปแร่ยูเรเนียม
*P5+1 หมายถึง ประเทศมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) 5 ประเทศ คือ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส บวกกับเยอรมนีอีก 1 ประเทศ |
สาเหตุที่ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเป็นข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายเดียวมากที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยลงนามมา นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขีปนาวุธของอิหร่าน รวมถึงการจำกัดการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านหลังปี 2568 โดยประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้จำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างถาวรและควบคุมโครงการพัฒนาขีปนาวุธให้มากขึ้น รวมถึงการลดบทบาทของอิหร่านที่ก่อความวุ่นวายในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะในเยเมนและซีเรีย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าประธานาธิบดีทรัมป์ต้องทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้เพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Elections) ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
ความวุ่นวายในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าการที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอาจทำให้เกิดความระส่ำระสายและความวุ่นวายในภูมิภาคตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ซึ่งทันทีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ก็ได้เสียงสนับสนุนจากอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ และเป็นประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรงของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งทั้งอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียถือเป็น 2 ประเทศที่คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมาโดยตลอด โดยก่อนหน้านี้ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอลได้ปะทุหนักขึ้น หลังจากนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล แถลงการณ์โจมตีข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน พร้อมทั้งกล่าวหาว่าอิหร่านยังลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่ ขณะที่อิหร่านได้ออกมาตอบโต้และปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
ประเด็นด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องจับตามอง
-
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเริ่มมีความไม่แน่นอน หลังจากฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ยืนยันว่าจะยึดมั่นและบังคับใช้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านต่อไป เนื่องจากมองว่าข้อตกลงนี้เป็นหนทางเดียวที่จะยับยั้งอิหร่านในการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมส่งสัญญาณให้อิหร่านดำเนินการตามภาระผูกพันของข้อตกลงเดิมต่อไป แม้สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวแล้วก็ตาม โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบอาวุธนิวเคลียร์นานาชาติ นอกจากนี้ ทั้ง 3 ประเทศยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะขัดขวางการบังคับใช้ข้อตกลงของประเทศอื่นๆ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ 3 ประเทศมหาอำนาจฝั่งยุโรปอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงกับสหรัฐฯ
-
ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและรัสเซีย แม้ว่าล่าสุดทั้งรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นอีก 2 ประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ยังไม่มีความเคลื่อนไหวต่อกรณีสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลง แต่ในช่วงที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ จะถอนตัวจากข้อตกลงมาโดยตลอด ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าครั้งล่าสุดที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ได้ครอบคลุมถึงบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่แห่งหนึ่งของจีนด้วย ดังนั้น การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงในครั้งนี้และมีอิสระในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่รุนแรงขึ้น อาจทำให้ความตึงเครียดด้านการค้าที่มีอยู่เดิมกับจีนรุนแรงขึ้น ขณะที่ความตึงเครียดกับรัสเซียก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากรัสเซียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของอิหร่าน อีกทั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ และรัสเซียก็เพิ่งมีข้อพิพาทกรณีสหรัฐฯ โจมตีซีเรีย ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย
-
การเจรจาที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และเกาเหลีเหนือ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้าพบหารือกับนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งจะถือเป็นการหารือครั้งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านจะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาเพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์
ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ราคาน้ำมัน การตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากอิหร่านเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก และอันดับ 3 ของ OPEC โดยล่าสุดราคาน้ำมัน WTI ได้ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะผันผวนรุนแรงหากประธานาธิบดีทรัมป์สามารถโน้มน้าวให้ประเทศในยุโรปดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านได้สำเร็จ เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน นอกจากนี้ ความรุนแรงของการผันผวนในตลาดน้ำมันโลกยังขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรุนแรงระดับใด เพราะหากสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงจะทำให้อิหร่านไม่สามารถขายน้ำมันในตลาดโลกได้เสรีเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
เศรษฐกิจอิหร่าน แม้ว่าการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ของสหรัฐฯ ยังไม่มีผลในทันที โดยสหรัฐฯ มีเวลา 90-180 วันที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ซึ่งเป็นที่คาดว่าสหรัฐฯ จะพุ่งเป้าดำเนินมาตรการคว่ำบาตรภาคธนาคารและภาคพลังงานของอิหร่านเป็นสำคัญ อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอิหร่าน ทั้งนี้ The Economist Intelligence Unit (EIU) มองว่าเศรษฐกิจอิหร่านมีแนวโน้มชะลอตัวในระยะข้างหน้าจากการส่งออกน้ำมันที่ลดลงและการลงทุนในประเทศที่ชะลอตัวจากมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม EIU ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอิหร่านปี 2561-2563 ไว้ที่เฉลี่ย 4.1% ต่อปี ภายใต้สมมุติฐานที่ว่ารายได้จากการส่งออกน้ำมันของอิหร่านยังมีสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม EIU ประเมินว่าหากมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันลดลง 400,000 บาร์เรลต่อวัน หรือราว 15% ของปริมาณการส่งออกน้ำมันในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสถานะการคลังของอิหร่านอย่างมีนัยสำคัญ
ผลกระทบต่อไทย ภาคส่งออกไทยอาจได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับราคาน้ำมันโดยตรง อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก ซึ่งมีสัดส่วนราว 14% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ผู้ประกอบการควรระวังความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าขนส่ง และต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินทุนหมุนเวียนและผลกำไรของบริษัท ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิต เพื่อช่วยควบคุมต้นทุน โดยการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกอย่างใกล้ชิด
ที่เกี่ยวข้อง
-
จีนอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีกจากสหรัฐฯ …เพิ่มความท้าทายต่อการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย
สถานการณ์สำคัญ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งซึ่งเป็นสินค้าดาวรุ่งของไทยในตลาดจีนในปี 2562 คาดว่าจะต้องเผชิญความท้าทายจากการเข้ามาแข่งขันของไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของสหรัฐฯ หลังจีนประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากสหรัฐฯ ตั้งแ...
24.12.2019 -
สงครามการค้าระอุ หลังสหรัฐฯ จ่อขึ้นภาษีสินค้า EU
ประเด็นสำคัญ สหรัฐฯ กำลังพิจารณา เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU จำนวน 89 รายการ วงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเติมจากรายการที่สหรัฐฯ เคยประกาศไว้ว่าจะเรียกเก็บเมื่อเดือนเมษายน 2562 วงเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรั...
03.07.2019
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญ EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน...
05.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019