Hot Issues

ผ่าทางตัน Brexit ก่อนถึงเส้นตายสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป

ประเด็นสำคัญ

  • รัฐสภาอังกฤษลงมติคัดค้านข้อตกลง Brexit ที่นายกรัฐมนตรี Theresa May เสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 นับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่ UK จะถอนตัวจาก EU ในรูปแบบที่เรียกว่า No-deal Brexit

  • สำหรับแนวทาง Brexit หลังจากนี้ มีความเป็นไปได้หลายกรณี อาทิ การกลับไปเจรจากับ EU อีกครั้ง การจัดการลงประชามติครั้งใหม่ การขยายเวลากระบวนการแยกตัวจาก EU รวมถึงการปล่อยให้เกิด No-deal Brexit

  • หากเกิด No-deal Brexit จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ UK รวมถึงเศรษฐกิจ EU ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

กลายเป็นกระแสร้อนแรงขึ้นอีกครั้งกรณีที่สหราชอาณาจักร (UK) อาจต้องแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) แบบไร้ข้อตกลง หรือที่เรียกว่า No-deal Brexit หลังจากรัฐสภาอังกฤษลงมติคัดค้านข้อตกลง Brexit ที่นายกรัฐมนตรี Theresa May เสนอต่อรัฐสภา ด้วยคะแนน 432 ต่อ 202 เสียง ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวได้ผ่านการรับรองในหลักการจากบรรดาผู้นำประเทศทั้งหมดใน EU แล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งการคุ้มครองสิทธิพลเมือง EU ที่อาศัยใน UK ตลอดจนเงินชดเชยที่ UK ต้องจ่ายให้กับ EU จากผลพวงของ Brexit รวมถึงการผ่อนปรนเกณฑ์บางอย่างชั่วคราวกรณีปัญหาพรมแดนของประเทศไอร์แลนด์กับแคว้นไอร์แลนด์เหนือของ UK ขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษยังถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในการบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษชนะการลงมติไม่ไว้วางใจด้วยคะแนน 325 ต่อ 306 เสียง ทำให้นายกรัฐมนตรี May สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ แต่สถานการณ์ทางการเมืองของ UK หลังจากนี้ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่านายกรัฐมนตรี May จะผ่าทางตันกรณี Brexit ได้อย่างไรก่อนถึงกำหนดเส้นตายที่ UK ต้องแยกตัวออกจาก EU อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2562 รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ UK รวมถึง EU หากเกิดกรณี No-deal Brexit

ทางเลือกสำหรับ Brexit ที่เป็นไปได้

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าแนวทาง Brexit หลังจากนี้มีความเป็นไปได้หลายแนวทาง อาทิ

1) การกลับไปเจรจากับ EU อีกครั้งเพื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะในประเด็น Backstop Plan ซึ่งเป็นแผนการจัดการเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศไอร์แลนด์กับแคว้นไอร์แลนด์เหนือของ UK ซึ่งเป็นประเด็นในข้อตกลง Brexit ที่นายกรัฐมนตรี May เสนอต่อสภาในรอบที่ผ่านมา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ UK มีความเห็นไม่ตรงกัน จนทำให้ข้อตกลง Brexit ถูกคัดค้านจากรัฐสภา

2) การเสนอให้จัดการลงประชามติ Brexit ครั้งใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายฝ่ายสนับสนุน ขณะที่ผลสำรวจของ YouGov บริษัทข้อมูลและวิจัยตลาดระดับโลก ล่าสุดพบว่าชาว UK ราว 54% ต้องการเป็นส่วนหนึ่งกับ EU ส่วนอีกราว 46% ต้องการแยกตัวจาก EU สะท้อนให้เห็นว่าหากมีการลงประชามติอีกครั้งก็มีความเป็นไปได้ที่ชาว UK จะตัดสินใจรวมอยู่ใน EU ต่อไป อย่างไรก็ตาม ภายใต้กำหนดเส้นตาย Brexit ในเดือนมีนาคม 2562 ถือว่ามีระยะเวลาเหลือสำหรับการจัดการลงประชามติครั้งใหม่ที่ค่อนข้างกระชั้นชิดเกินไป

3) การขอขยายเวลากระบวนการแยกตัวจาก EU ทั้งนี้ การกลับไปเจรจากับ EU อีกครั้งหรือการจัดการลงประชามติครั้งใหม่นั้นมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษสามารถยื่นขอขยายเวลากระบวนการแยกตัวจาก EU ออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ได้ ภายใต้ Article 50 of the Treaty on European Union โดยต้องผ่านความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ

4) การแยกตัวแบบ No-deal Brexit หากรัฐบาลอังกฤษไม่สามารถผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและไม่สามารถขอขยายเวลากระบวนการแยกตัวจาก EU ซึ่งทางเลือกนี้เป็นแนวทางที่ไม่มีฝ่ายใดอยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ UK โดยเฉพาะต่อภาคธุรกิจ โดยการแยกตัวแบบ No-deal Brexit เป็นการแยกตัวแบบเด็ดขาดและทันทีหลังวันที่ 29 มีนาคม 2562 โดยปราศจากข้อตกลงใดๆ มารองรับ ซึ่งจะทำให้การค้าการลงทุนรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่าง UK และ EU ต้องยุติลงทันที

ผลกระทบต่อ UK และ EU หากเกิด No-deal Brexit

ด้านการค้า

ปัจจุบันการส่งออกสินค้าของ UK ไปประเทศใน EU มีสัดส่วนราว 44% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของ UK ซึ่ง No-deal Brexit จะทำให้ผู้ส่งออก UK ที่ส่งสินค้าไป EU อาจต้องเสียภาษีนำเข้าเป็นมูลค่ากว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่การนำเข้าสินค้าของ UK จากประเทศใน EU มีสัดส่วนกว่า 50% ซึ่ง No-deal Brexit จะทำให้เกิดความล่าช้าของสินค้าในการผ่านพิธีการศุลกากร อันจะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าของโรงงานส่วนใหญ่

ด้านเศรษฐกิจ

- เศรษฐกิจ UK IMF คาดว่าหากเกิด No-deal Brexit จะทำให้การค้าระหว่าง UK กับ EU กลับไปอยู่ภายใต้ข้อตกลง WTO ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ UK ในระยะยาวถึงราว 5-8% ต่อ GDP เทียบกับกรณีที่ไม่เกิด Brexit เนื่องจากการส่งออกสินค้าจาก UK ไปประเทศใน EU จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้นและต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ตลอดจนการโยกย้ายแรงงานอยู่ในระดับต่ำ และ FDI ชะลอตัว ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คาดการณ์ว่าหากเกิด No-deal Brexit เศรษฐกิจ UK จะหดตัวถึง 8% ในปี 2562 ถือเป็นภาวะถดถอยที่รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินในปี 2551 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานจะสูงขึ้นแตะระดับ 5% เนื่องจากแรงงานหลายแสนคนต้องตกงาน และอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยจะลดลง 30%

- เศรษฐกิจ EU กรณี No-deal Brexit จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ EU ในระยะยาวราว5% ขณะที่การจ้างงานใน EU จะลดลง 0.7% โดยเศรษฐกิจของประเทศใน EU ที่จะได้รับผลกระทบสูงที่สุด คือ ประเทศที่มีการเชื่อมโยงทางการค้ากับ UK ในระดับสูง ได้แก่ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และเบลเยียม รองลงมา คือ เยอรมนี เนื่องจากมีการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมกับ UK ส่วนมอลตา ไซปรัส และลักเซมเบิร์ก ได้รับผลกระทบเป็นลำดับถัดมา เพราะมีการเชื่อมโยงกับศูนย์กลางทางการเงินในลอนดอน

 

แนวโน้มค่าเงินปอนด์ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจ UK ที่อ่อนแอลงจาก Brexit ทำให้เงินปอนด์ผันผวนในทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับต่ำสุดรอบ 32 ปี ในเดือนมกราคม 2560 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหลังจากที่รัฐสภาอังกฤษลงมติคัดค้านข้อตกลง Brexit ของนายกรัฐมนตรี May เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นทันทีจากระดับ 1.27 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ มาอยู่ที่ 1.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ เนื่องจากตลาดมองว่าในที่สุดแล้วรัฐบาลอังกฤษอาจต้องขอขยายเวลาการแยกตัวจาก EU ออกไปจากกำหนดเดิม ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินปอนด์ที่ผันผวนในทิศทางอ่อนค่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีส่วนทำให้ UK ต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่แพงขึ้น แต่การส่งออกของไทยไป UK ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 ยังขยายตัวได้ 0.4% ซึ่งถือว่าผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด โดยสินค้าส่งออกของไทยไป UK ที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ ไก่แปรรูป เครื่องยนต์สันดาปภายใน เหล็กและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

ผลกระทบต่อการส่งออกไทยไป UK

- ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว UK เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในตลาด EU รองจากเยอรมนี และอันดับ 20 ของไทยในตลาดโลก ดังนั้น หากเกิดกรณี No-deal Brexit และทำให้เศรษฐกิจ UK เผชิญภาวะหดตัว ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไป UK อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยคาดว่าสินค้าฟุ่มเฟือยจะเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ และยานยนต์

- ผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของ UK ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าไป UK ดำเนินไปภายใต้กฎระเบียบของ EU ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษี อาทิ อัตราภาษีนำเข้าเดียวกันทั้ง EU ไปจนถึงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ มาตรฐานสินค้า และระบบโควตานำเข้าสินค้าบางประเภท ดังนั้น Brexit จะทำให้ UK ต้องกลับมาใช้มาตรการทางการค้าของตนเอง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอาจไม่รุนแรง เนื่องจากคาดว่า UK จะยังคงมาตรการทางการค้าไว้คล้ายคลึงกับที่ใช้อยู่เดิมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอย่างระบบโควตานำเข้าสินค้าอาจส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยบางรายการ เนื่องจากไม่ถูกจำกัดไว้ตามระบบ EU เดิม

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview