ข่าวเศรษฐกิจ
** ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ประเมินผลกระทบจากการที่จีนลดค่าหยวนว่าจะทำให้การส่งออกสินค้าไปจีน 5 รายการมีปัญหา คือ 1. ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ 2. ยางพารา 3. มันสำปะหลัง 4.น้ำตาลทราย 5.ข้าวหอมมะลิ และข้าวเกรดอื่นๆ เนื่องจากจีนไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าดังกล่าวจากไทยในราคาแพงกว่าคู่ค้ารายอื่น และผู้ส่งออกไทยต้องซื้อฟอร์เวิร์ดมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวไทยคาดว่าจะได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวจีนที่อาจเปลี่ยนเป้าหมายการท่องเที่ยวจากยุโรปเป็นไทยแทน อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญตัวแทนภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าหารือสถานการณ์การลดค่าเงินหยวน เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนผลักดันการส่งออกต่อไป
** นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ เห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมไม่มากนัก เพราะการลดค่าเงินหยวนของจีนส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินสกุลอื่นๆ รวมถึงบาทไทย อ่อนค่าลง แต่ในระยะสั้นภาคธุรกิจที่ไร้วินัยการเงินอาจได้รับผลกระทบหากปรับตัวไม่ทัน
** นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าการปรับลดค่าเงินหยวนของจีนจะไม่ส่งผลกระทบกับไทย และในช่วง 5-6 เดือนข้างหน้า การค้าไทย-จีนจะได้รับประโยชน์หากการส่งออกของจีนฟื้นตัว สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปจีน 3 กลุ่ม คือ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะข้าวจีนซื้อขายแบบ G-to-G และโควตา มีการกำหนดราคาและปริมาณไว้แล้ว ส่วนยางพาราและมันสำปะหลังจีนยังจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคที่จะขยายตัวเพิ่ม อีกทั้งเชื่อว่ากำลังซื้อยังมีอำนาจมากกว่าราคาที่สูงขึ้น
(กรุงเทพธุรกิจ, 16 ส.ค. 2558 และประชาชาติธุรกิจ, 17-19 ส.ค. 2558)