ข่าวเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 กองทัพตุรกีก่อเหตุรัฐประหาร เพื่อยึดอำนาจประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ของตุรกี โดยนำกำลังทหารเข้ายึดสถานที่สำคัญในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี และเมืองอิสตันบูล อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี Erdogan ไม่ยินยอมให้ยึดอำนาจและเรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อต้านเหตุรัฐประหาร จนทำให้แผนการรัฐประหารครั้งนี้ประสบความล้มเหลว โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวอย่างน้อย 232 ราย ในจำนวนนี้เป็นพลเรือนอย่างน้อย 161 ราย ทั้งนี้ รัฐบาลตุรกีเชื่อว่านาย Fethullah G?len นักการศาสนาที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ เป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งตัวกลับตุรกีโดยเร็ว ล่าสุดทางการตุรกีได้กวาดล้างผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุรัฐประหารและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 วันหลังเหตุรัฐประหาร มีการจับกุมและสั่งพักงานข้าราชการ ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายพันนาย และประกาศพร้อมนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้เพื่อลงโทษกลุ่มคนดังกล่าวหากประชาชนเรียกร้องและรัฐสภาเห็นชอบ ส่งผลให้ EU ออกมาแถลงว่าจะยุติการเจรจาการเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ของตุรกี หากตุรกีนำโทษประหารกลับมาใช้จริง (CNN, โพสต์ทูเดย์, 16-19 ก.ค. 2559)