ข่าวเศรษฐกิจ
บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของประเทศในภาพรวมจะมีปริมาตรถึง 56,753 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 75% ของความจุอ่าง ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่มีปริมาตรน้ำรวม 46,331 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61% ของความจุอ่าง แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแม้ฝนจะตกมาก แต่ไปตกใต้เขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์รวมกันมีเพียง 5,445 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 33% ของความจุอ่าง และเมื่อรวมกับเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,029 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39% ของความจุอ่างเท่านั้น ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการผลักดันน้ำเค็มช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จึงจะมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยผลักดันน้ำเค็ม 1,000 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการจัดสรรน้ำเพื่ออุตสาหกรรมใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาปริมาณ 135 ล้าน ลบ.ม. (1 พ.ย. 2564-30 เม.ย. 2565) อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ (ประชาชาติธุรกิจ, 13-16 ม.ค. 2565)