ข่าวเศรษฐกิจ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กำหนดนโยบายมุ่งสู่ "EGAT Carbon Neutrality" ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้กลยุทธ์ Triple S ได้แก่
1) Sources Transformation หรือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยในปี 2565 จะติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ (Hydro Floating Solar Hybrid) ที่เขื่อนอุบลรัตน์ ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ (MW) เงินลงทุนราว 850 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2566 และจะทยอยลงทุนติดตั้ง Hydro Floating Solar Hybrid ตามโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างๆ โดยในปี 2579 จะมีปริมาณสะสมรวม 5,325 MW ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 58,000 ล้านบาท รวมถึงการดำเนินงานด้าน Grid Modernization ที่ในปี 2565 จะลงทุนก่อสร้างสายส่งเพื่อรองรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 20% ใช้งบลงทุนราว 32,505 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้โครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวทันสมัยและยืดหยุ่นสามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมได้อย่างมั่นคง และในอนาคตยังมีแผนจะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน 66,000 ล้านหน่วย
2) Sink Co-creation หรือการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี (2565-2574) ซึ่งจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 1.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้เงินลงทุนราว 11,438 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีแผนจะปลูกป่า 30,000 ไร่ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 16 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ จะลงทุนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนนำไปใช้ประโยชน์และการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) โดยจะเริ่มศึกษาในปี 2565 และตั้งเป้าจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ CO2 ในปี 2588 และดักจับ CO2 ได้ 3.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2593
3) Support Measures Mechanism หรือกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้ 9.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2593 ซึ่งในปี 2565 มีเป้าหมายดำเนินงานลดปล่อย CO2 ได้ราว 2.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
(ฐานเศรษฐกิจ, 3-5 ก.พ. 2565)