ข่าวเศรษฐกิจ
โรงพยาบาลเอกชนเปิดเผยแนวโน้มคนไข้ต่างชาติหลังเปิดประเทศ ดังนี้
- บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าตั้งแต่ไทยเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 มีคนไข้ต่างชาติเดินทางเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลพานาซีเพียงเล็กน้อย โดยกลุ่มหลักเป็นคนไข้จากบังกลาเทศ เนื่องจากยังมีอุปสรรคจากการเดินทางที่ไทยยังไม่เปิดเที่ยวบินตรงในหลายเส้นทาง สำหรับปี 2565 คาดว่าสถานการณ์คนไข้ต่างชาติจะดีขึ้น โดยคนไข้ต่างชาติกลุ่มแรกที่คาดว่าจะเข้ามาคือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และเมียนมา รวมถึงบังกลาเทศ อาหรับ และดูไบ ซึ่งคุ้นเคยกับการมารักษาที่ไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้เปิดแผนกหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด และแผนกมะเร็งโดยใช้ธรรมชาติรักษา ไม่ว่าจะเป็นสเต็มเซลล์ สมุนไพร หรือ IV Vitamin ซึ่งใช้สารจากเยอรมนีร่วมกับกัญชาของไทย
- โรงพยาบาลวิมุต เปิดเผยว่าภาพรวมของคนไข้ต่างชาติมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากเปิดประเทศ ซึ่ง รพ.วิมุตได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับคนไข้ต่างชาติ โดยมีบริการประกันต่างประเทศ มีทีมเฉพาะกิจทำหน้าที่ประสานงานในกรณีที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ทั้งนี้ รพ.วิมุตพยายามผลักดันให้เป็นที่รู้จักของคนไข้ในแถบเอเชียและกลุ่ม CLMV ซึ่งปัจจุบันคนไข้ต่างชาติที่เข้ารับบริการมากที่สุดคือจีน ตามด้วยไต้หวันและอินโดนีเซีย
- โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ระบุว่าตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ทำให้จำนวนคนไข้ต่างชาติลดลง จึงต้องเน้นให้คำปรึกษาทางการแพทย์กับคนไข้เก่าผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะคนไข้จากตะวันออกกลางซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ทั้งคูเวต กาตาร์ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซาอุดีอาระเบีย และกลุ่ม CLMV อย่างไรก็ตาม หลังเปิดประเทศมีคนไข้ต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนแรกพบว่ามีรายได้จากกลุ่มคนไข้ชาวตะวันออกกลาง และกลุ่ม CLMV กลับมาเกือบ 100% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ทั้งนี้ ในต้นปี 2565 โรงพยาบาลฯ ได้จัดแพ็กเกจสำหรับคนไข้ต่างชาติ เช่น แพ็กเกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจตรวจกระดูกและข้อ รวมทั้งระบบประสาทและสมองด้วย MRI เพื่อดึงให้คนไข้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น (ฐานเศรษฐกิจ, 3-5 ก.พ. 2565)