ข่าวเศรษฐกิจ
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากการวิจัยพบว่ายางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่มีการกักเก็บคาร์บอนได้ดี สามารถเก็บได้ตั้งแต่อายุต้นยาง 1-18 ปี โดยเฉพาะในช่วง 1-5 ปีแรกก่อนเปิดกรีด กยท. จึงได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบ โดยใช้พื้นที่สวนยางที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. เข้าร่วมลงทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จัดทำโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา 11,000 ไร่ ใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสวนยางสากล อาทิ FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นานาชาตินำมาใช้กับไม้และป่าไม้ที่สามารถขายคาร์บอนได้ รวมทั้งยังร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำคู่มือการบริหารจัดการสวนให้เข้าเงื่อนไขการขายคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ ในปี 2565 กยท.จะรวบรวมทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction : T-VER) และในปี 2566-2567 จะขอรับรองเพื่อให้ขายคาร์บอนในตลาดได้ ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิต ขณะเดียวกันสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้ศึกษาและประเมินการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สวนยางสงเคราะห์แบบสมัครใจ และจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินคาร์บอนเครดิตในสวนยางนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีสวนสงเคราะห์ 8.3 แสนไร่ เบื้องต้นคาดว่าจะได้คาร์บอนเครดิต 51,240 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ถึง 49,190 ล้านบาท และคาดว่า EEC มีพื้นที่ที่มีศักยภาพเข้าเงื่อนไขนี้ราว 1.5 ล้านไร่ (ประชาชาติธุรกิจ, 23-26 เม.ย. 2565)