ข่าวเศรษฐกิจ
กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 สาขาคมนาคมขนส่ง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 20% จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีที่ดำเนินกิจกรรมตามปกติ (Business as Usual : BAU) ภายในปี 2573 หรือลดลง 111 ล้านตัน ณ ปี 2573 โดย สนข. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับสาขาการขนส่ง และพบว่าสามารถลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2573 ได้ถึง 41 ล้านตัน แบ่งเป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานคมนาคมขนส่ง 31 ล้านตัน และมาตรการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานพาหนะ 10 ล้านตัน ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะขับเคลื่อนผ่านหลักการ A-S-I Approach (Avoid-Shift-Improve) ได้แก่
1) ลด (Avoid/Reduce) : ส่งเสริมให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือลดระยะทางการเดินทางที่ไม่จำเป็น โดยการบูรณการระหว่างการวางผังเมืองกับการวางแผนด้านการขนส่งที่เหมาะสม
2) เปลี่ยน (Shift/Maintain) ใช้รูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ระบบขนส่งสาธารณะ และการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์
3) พัฒนา (Improve) มาตรการที่มุ่งเน้นการพัฒนายานยนต์และการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เช่น ส่งเสริมการใช้รถและจักรยานไฟฟ้า
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง อาทิ การดัดแปลงรถโบกี้ไฟฟ้ากำลัง การจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการทางรางเพื่อขอความร่วมมือในการกำหนดตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละปี เพื่อเก็บสถิติปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ในรอบ 1 ปี และประเมินผลการดำเนินงานทุกปี ซึ่งผู้ประกอบการภาคขนส่งทางรางเริ่มตื่นตัวอย่างมากเพื่อเก็บเป็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) อย่างต่อเนื่อง (กรุงเทพธุรกิจ, 13 ก.ย. 2565)