ข่าวเศรษฐกิจ
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยแพร่รายงาน “สถานการณ์ค่าโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศไตรมาส 2 ปี 2565” ระบุว่า สายการบินกลับมาเปิดให้บริการในประเทศมากขึ้น เนื่องจาก COVID-19 ระบาดลดลงและประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึงขึ้น ทำให้การแข่งขันของสายการบินสูงขึ้น จึงมีการกำกับดูแลค่าโดยสารสายการบินในกลุ่มแข่งขันสูง ดังนี้
- เส้นทางบินระยะไม่เกิน 300 กม. และมีการเดินทางภาคพื้นไม่สะดวก ซึ่งสายการบินกำหนดค่าโดยสารชั้นประหยัดได้ไม่เกิน กม.ละ 22 บาท
- เส้นทางบินระยะเกินกว่า 300 กม. สายการบินกลุ่มบริการเต็มรูปแบบ (Full Service) กำหนดค่าโดยสารชั้นประหยัดได้ไม่เกิน กม.ละ 13 บาท และกลุ่มบริการต้นทุนต่ำ (Low Cost) กำหนดค่าโดยสารชั้นประหยัดได้ไม่เกิน กม.ละ 9.40 บาท
รายงานดังกล่าวยังระบุว่าไตรมาส 2/2565 เส้นทางที่มีค่าโดยสารสูงสุดมีราคาเที่ยวละ 7,230 บาท ได้แก่ เส้นทางอู่ตะเภา–สมุย โดยมีสายการบินให้บริการรายเดียว ได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขณะที่เส้นทางการบินที่มีการแข่งขันสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่–ภูเก็ต ซึ่งมีสายการบินให้บริการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และบริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต็อค จำกัด นอกจากนี้ ผลสำรวจโดยกรุงเทพธุรกิจพบว่า ตั๋วโดยสารสายการบินนอกประเทศมีราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกับในประเทศ อาทิ เส้นทางการบินไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เนื่องจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากวิกฤตรัสเซีย–ยูเครน อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาตั๋วโดยสารจะกลับสู่ระดับปกติในอนาคตจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการบริหารจัดการของสายการบินที่มีแนวโน้มดีขึ้น (bangkokbiznews.com, 2 ต.ค. 2565)