ข่าวเศรษฐกิจ
ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณายุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) สินค้าเหล็กจาก 5 ประเทศ รวม 3 มาตรการ โดยล่าสุดได้แจ้งยุติมาตรการ AD เหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีนและมาเลเซียในช่วงกลางเดือน มี.ค. 2566 นั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังคงแสดงจุดยืนคัดค้านเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมถึงแนวทางการพิจารณาไม่เป็นไปตามข้อชี้แจงของกรมการค้าต่างประเทศที่แถลงต่อสาธารณชนในเรื่องการพิจารณาต่ออายุมาตรการ โดยสินค้าจากจีนและมาเลเซียจะยังมีการทุ่มตลาดในอัตรา 17.86% และ 4.72% ตามลำดับ หากไม่มีการใช้มาตรการต่อไป โดยเฉพาะจีนที่มีการส่งออกสินค้ามายังไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีการส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้นถึงกว่า 270% จากปี 2560 อีกทั้งจีนยังมีกำลังการผลิตส่วนเหลืออีกกว่า 170 ล้านตัน จึงย่อมต้องระบายสินค้าไปยังประเทศที่ไม่มีมาตรการอย่างแน่นอน อีกทั้งในปี 2564 จีนและมาเลเซียส่งออกเหล็กมายังภูมิภาคอาเซียนมากกว่า 1.68 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 32.16% ของการส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าอาเซียนเป็นเป้าหมายหลักของการทุ่มตลาด
สอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่าแนวทางการพิจารณาต่ออายุมาตรการ AD เป็นการพิจารณา “แนวโน้ม” ที่จะทำให้มีการทุ่มตลาดและเกิดความเสียหายขึ้นอีก จึงไม่จำเป็นว่าต้องพบการทุ่มตลาดและมีความเสียหายเท่านั้นจึงจะต่ออายุมาตรการ AD ได้ ดังเช่นกรณีที่ไทยถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการ AD เหล็กแผ่นรีดร้อนตั้งแต่ปี 2544 และตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตในประเทศไทยไม่มีการส่งเหล็กแผ่นรีดร้อนไปสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็ยังต่ออายุมาตรการ AD กับไทยมาจนถึงปัจจุบัน (www.thansettakij.com, 23 มี.ค. 2566)