ข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไทยเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในต่างประเทศส่งผลให้ในปี 2566 ไทยอาจส่งออกไข่ไก่ไปไต้หวันและญี่ปุ่นได้มากขึ้น แต่การส่งออกไปตลาดใหม่อื่นๆ อาจจะใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องเตรียมเอกสารเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการนำเข้า-ส่งออก อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกทำให้เกษตรกรในประเทศที่มีการระบาดต้องหยุดเลี้ยงไก่ 1 รอบ ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ปีก่อนที่ผลผลิตจะกลับมา จึงยังเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกไข่ไก่ ส่วนการส่งออกไก่ในช่วงไตรมาส 1/2566 ชะลอตัวลงสวนทางกับไข่ไก่ ซึ่งเป็นผลจากลูกค้ายังมีสต็อกไก่คงค้างจำนวนมาก แต่คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาในไตรมาส 2/2566 และการส่งออกไก่ทั้งปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 3% โดยตลาดส่งออกหลักยังเป็นญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร EU และจีน สำหรับปัจจัยกระทบการส่งออกไก่ในปี 2566 อาทิ เงินบาทผันผวนมาก ทำให้ต้องทำประกันความเสี่ยง เงินเฟ้อสูงในหลายประเทศมีผลให้คู่ค้าชะลอการสั่งซื้อเพื่อขอต่อราคาสินค้าให้ถูกลง และการแข่งขันจากบราซิลที่มีความได้เปรียบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่าและเงินอ่อนค่าทำให้ราคาจำหน่ายของบราซิลต่ำกว่าไทยประมาณ กก. ละ 10 บาท อย่างไรก็ตาม การส่งออกไก่ยังมีปัจจัยบวกจากต้นทุนค่าระวางเรือที่ลดลงต่ำมาก เช่น สายเดินเรือเส้นทางยุโรปปรับลดลงจากช่วง COVID-19 ที่ตู้ละ 14,000 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 2,000-3,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสขยายการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น หากจัดทำมาตรฐานการส่งออกไก่แล้วเสร็จ (prachachat.net, 25 มี.ค. 2566)