ข่าวเศรษฐกิจ
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดทำแผนพลังงานชาติและแผนพลังงานที่เกี่ยวข้องยังเดินหน้าต่อเนื่องแม้จะเป็นช่วงเลือกตั้ง โดยเบื้องต้นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2580 (PDP 2023) มีการเปลี่ยนแปลงจากแผนปัจจุบันที่มีการบรรจุโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน 650 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2568 แต่แผนฉบับใหม่ไม่ได้บรรจุไว้ เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีไม่เพียงพอ ต้องสร้างท่อเชื่อมจาก จ.นครราชสีมา มายังโรงไฟฟ้าเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งต้องลงทุนสูงและจะกระทบต่อค่าไฟฟ้า ดังนั้น การทำงานของโรงไฟฟ้าน้ำพองจึงพิจารณาเพียงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีอายุใช้งานครอบคลุมถึงปริมาณก๊าซฯ ที่คาดว่าจะมีถึงปี 2574 เท่านั้น
ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่าได้เตรียมแผนงานในกรณีที่โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนไม่ถูกบรรจุในแผน PDP 2023 ไว้แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางที่จะดำเนินการควบคู่กันไป คือ การลงทุนเพิ่มเติมราว 1,200 ล้านบาท เพื่อต่ออายุโรงไฟฟ้าน้ำพองออกไป และการพัฒนาโครงการน้ำพอง กรีน เอ็นเนอร์ยี โมเดล (Namphong Green Energy Model) เพื่อตอบโจทย์การลงทุนอนาคตที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ศึกษาการใช้ศักยภาพหลุมก๊าซฯ ในพื้นที่มากักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) 2) ศึกษาการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิต Green Hydrogen 3) ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCU) รูปแบบ Carbon Recycle และ Biological Conversion และ 4) การผลิตไฟฟ้าจาก Fuell Cell 30 MW หลังหมดสัญญาก๊าซฯ ในปี 2574 (https://mgronline.com, 10 เม.ย. 2566)