ข่าวเศรษฐกิจ
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลกรณีปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาทว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการอย่างมากโดย
ภาคเกษตรกรรม จะได้รับผลกระทบเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ยางพารา ที่มีสัดส่วนค่าแรงขั้นตํ่าต่อต้นทุนการผลิตสูงถึง 54.8% รองลงมา ได้แก่ อ้อย 51.6% มะพร้าว 44.9% ข้าวโพด 37.0% มันสำปะหลัง 34.8% อื่นๆ เช่น ผัก ข้าว ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน ประมง และปศุสัตว์ 15-33% และภาคเกษตรกรรมโดยรวม 29.9%
ภาคอุตสาหกรรม จะกระทบผลิตภัณฑ์ไม้มากที่สุด 16.0% รองลงมา ได้แก่ เครื่องหนังและรองเท้า 12.7% ผลิตภัณฑ์คอนกรีต 11.9% เคมีภัณฑ์ 11.6% สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย 11.6% อื่น ๆ เช่น การผลิตซีเมนต์ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5-11% และภาคอุตสาหกรรมโดยรวม 7.4%
ภาคบริการ จะกระทบมากในอุตสาหกรรมสถาบันการเงินและประกันภัย 37.6% ค้าส่งค้าปลีก 37.1% ขนส่ง 16.7% อื่นๆ เช่น บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการทางด้านธุรกิจ วิทยุ โทรทัศน์ บริการบันเทิงและบริการสันทนาการ 12-25% ภัตตาคารโรงแรม 12.8% การก่อสร้าง 8.8% ขณะที่ภาคบริการโดยรวมมีสัดส่วน 27.8%
นอกจากนี้ ม.หอการค้าไทยยังพบว่าค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า โดยหากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1 บาทจะทำให้เงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น 0.000952% หรือหากค่าแรงขั้นตํ่าเพิ่มขึ้นจากวันละ 354 บาทเป็น 450 บาท จะทำให้เงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น 0.1% (thansettakij.com, 1 มิ.ย. 2566)