ข่าวเศรษฐกิจ
ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ได้มีมติให้ยุติการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) สินค้าเหล็กจาก 6 ประเทศเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2566 ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศต่างคัดค้านและขอให้ ทตอ. ทบทวนมติดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นหากมีการยกเลิกมาตรการนั้น ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทตอ. ได้พิจารณาทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก มีความคืบหน้าแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ
1) เหล็กแผ่นรีดร้อนจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี สถานะล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ทตอ. ได้ประกาศต่ออายุมาตรการอีก 5 ปีแล้ว
2) เหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีนและมาเลเซีย ล่าสุดร่างผลการทบทวนมีมติให้ต่ออายุมาตรการอีก 5 ปี คาดว่าจะมีประกาศให้ต่ออายุมาตรการเร็วๆ นี้
3) ท่อเหล็กจากจีนและเกาหลีใต้ ล่าสุดร่างผลการทบทวนมีมติให้ต่ออายุมาตรการอีก 5 ปี และคาดว่าจะมีประกาศให้ต่ออายุมาตรการเร็วๆ นี้เช่นกัน
ขณะเดียวกันแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ก่อนหน้านี้ผู้ค้า ผู้นำเข้าเหล็ก และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่อเนื่อง ได้เรียกร้องให้ยุติการต่ออายุมาตรการ AD โดยให้เหตุผลว่าทำให้ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีสูงขึ้นและกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ประกอบกับที่ผ่านมาสินค้าเหล็กหลายรายการมีการบังคับใช้และต่ออายุมาตรการ AD มาเป็นเวลานาน อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจึงน่าจะปรับตัวได้แล้ว จึงควรยุติการต่ออายุมาตรการ AD เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าดี มีคุณภาพจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจาก ทตอ. ได้พิจารณาจากหลักฐานต่างๆ แล้วพบว่ายังมีการทุ่มตลาดจริง โดยจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคาจำหน่ายในประเทศต้นทาง จึงมีมติให้ต่ออายุการใช้มาตรการ AD เหล็กแผ่นรีดร้อนและท่อเหล็กจาก 6 ประเทศข้างต้นอีก 5 ปี (www.thansettakij.com, 7 ก.ค. 2566)