ข่าวเศรษฐกิจ
กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรแปรรูปยางพาราภาคใต้เพื่อส่งออกรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบันการส่งออกยางพาราไทยไม่สดใสนัก เนื่องจากราคาในตลาดโลกค่อนข้างต่ำและผู้ซื้อชะลอคำสั่งซื้อ ทำให้โรงงานแปรรูปยางพาราประสบภาวะขาดทุนและมียางพาราค้างสต็อก จึงต้องลดกำลังการผลิต ลดการซื้อวัตถุดิบ และลดแรงงานลง ส่วนผู้ผลิตถุงมือยางจากยางพาราธรรมชาติในกลุ่ม EU และสหรัฐฯ ก็ไม่สั่งซื้อ เพราะใช้ถุงมือยางไนไตร (Nitrile) ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์แทน ประกอบกับผู้ซื้อในประเทศเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของ FSC จึงไม่ซื้อยางพาราที่อยู่ในพื้นที่ป่า สวนยางพาราใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่สงวน หากต้องการส่งออกต้องขอให้รัฐบาลออกใบรับรองให้มีที่มาที่ไปของยางพาราให้ชัดเจน จึงจะส่งออกไปยัง EU และสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ สถานการณ์โรคใบร่วงในปัจจุบันยังทำให้น้ำยางสดลดลง ยางพาราหายไปจากตลาดราว 60-70% เฉพาะในกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ที่เคยรับซื้อน้ำยางสดวันละ 30,000-40,000 กก. ปัจจุบันเหลือเพียงราว 3,000 กก. เช่นเดียวกับตลาดกลางของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั่วภาคใต้ก็มีผลผลิตน้อย ทำให้โรงงานแปรรูปเริ่มขาดแคลนยางพาราและประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการเดินเครื่องผลิต และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ตลอดปี 2566 (www.prachachat.net, 15 ก.ค. 2566)