ข่าวเศรษฐกิจ
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ไทยมีปริมาณการใช้เหล็ก 7.17 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีปริมาณ 7.03 ล้านตัน แต่การผลิตในประเทศลดลงถึง 14.7% เหลือเพียง 2.81 ล้านตัน สวนทางกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นถึง 15.6% เป็น 4.99 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าสินค้าในประเทศถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสินค้านำเข้า ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของผู้ผลิตในประเทศเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เหลือเพียง 29% ลดลงจาก 33% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของอาเซียนที่อยู่ในระดับ 52.3% ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากการที่ไทยนำเข้าเหล็กในสัดส่วนสูงถึง 70% ของการใช้ในประเทศ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่นำเข้าเพียง 22%
สำหรับสินค้าเหล็กสำเร็จรูปที่นำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตในประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Circumvention) เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนหรือเหล็กลวดที่มีการเจืออัลลอยเพื่อหลบเลี่ยงพิกัดศุลกากร ที่มีปริมาณนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 286% และ 23.7% ตามลำดับ รวมถึงการนำเหล็กเคลือบประเภทต่างๆ มาใช้แทนเหล็กเคลือบที่มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) ส่งผลให้เกิดการบั่นทอนประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรการ AD สถาบันเหล็กฯ จึงเห็นว่าไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti-Circumvention : AC) เช่นเดียวกับที่ EU ใช้มาตรการ AC กับเหล็กเคลือบสังกะสีจากจีน หรือกรณีที่บราซิลใช้มาตรการ AC กับเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากจีน เป็นต้น (https://mgronline.com, 3 ส.ค. 2566)