ข่าวเศรษฐกิจ
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเหล็กของจีนมีแผนย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานในอาเซียนมากขึ้น ทั้งโรงถลุงเหล็กและการตั้งเตาหลอมเหล็ก ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเหล็กของอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 75 ล้านตันในปี 2564 เป็น 145 ล้านตันในปี 2569 เกินกว่าความต้องการใช้เหล็กของอาเซียนที่มีอยู่ราวปีละ 70-80 ล้านตัน จึงทำให้อาเซียนกลายเป็นผู้ส่งออกเหล็กและกลายเป็นเป้าในการใช้มาตรการทางการค้าของชาติตะวันตกในอนาคต ผู้ประกอบการเหล็กในอาเซียนจึงต้องเตรียมการ และสร้างโอกาสลงทุนผลิตสินค้าชนิดใหม่ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น เหล็กคุณภาพสูงที่ใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรกล และควรหยุดลงทุนสร้างโรงงานผลิตเหล็กเพิ่มเติมในสินค้าที่ล้นตลาดอยู่แล้ว เช่น เหล็กเส้น เหล็กแผ่นที่ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงก่อน COVID-19 ระบาด จีนส่งออกเหล็ก 82.4 ล้านตัน ในปี 2561 ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงอยู่แล้ว แต่ล่าสุดในปี 2565 จีนกลับมาส่งออกเหล็กสูงถึง 92.0 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อน COVID-19 ระบาด และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 จีนส่งออกเหล็กถึง 66.2 ล้านตัน ซึ่งหากจีนยังส่งออกได้ในระดับนี้ในอีก 5 เดือนที่เหลือของปี จะทำให้ปริมาณส่งออกเหล็กทั้งปี 2566 ของจีนสูงกว่า 100 ล้านตัน และทำลายสถิติส่งออกเหล็กในรอบ 5 ปี เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนต่ำกว่าที่คาด ขณะที่โรงงานเหล็กมีการผลิตสูงขึ้นต่อเนื่องหลังปัญหา COVID-19 คลี่คลายลง จึงต้องระบายสินค้าจำนวนมากออกสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของจีนด้วยสัดส่วนถึง 23% เนื่องจากมีมาตรการปกป้องตลาดไม่รุนแรงเท่ามาตรการของ EU และสหรัฐฯ (www.thansettakij.com, 12 ต.ค. 2566)