ข่าวเศรษฐกิจ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพื่อลดความเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้
1) มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ถังขนาด 15 กิโลกรัม ไว้ที่ 423 บาท นาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2567 โดยกระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงการคลังโดยใช้กลไกภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
2) มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า โดยการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติตามข้อเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 13 ธ.ค. 2566 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสม (AF) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 แทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลาง ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะทบทวนสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้คำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะนำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติ 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 มาช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติรอบนี้ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ไม่เกินหน่วยละ 4.20 บาท โดยมีอัตราเป้าหมายที่ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ซึ่งมีอยู่ราว 17 ล้านครัวเรือน จะได้รับส่วนลดเพิ่ม 21 สตางค์ จึงจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือหน่วยละ 3.99 บาท โดยจะใช้งบกลางในการบริหาร คาดว่าจะใช้เงินราว 1,950 ล้านบาท (www.bangkokbiznews.com, 20 ธ.ค. 2566)