ข่าวเศรษฐกิจ
ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาชิปจากจีน และทำให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลกต่างเข้าไปตั้งฐานหรือขยายกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดย Intel ประกาศตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 ว่าจะลงทุนกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานบรรจุและทดสอบชิปในมาเลเซีย และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2567 ส่วน GlobalFoundries ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อีกรายในสหรัฐฯ ได้เปิดศูนย์การดำเนินงานในปีนัง เมื่อเดือน ก.ย. 2566 เพื่อสนับสนุนการดำเนินการผลิตทั่วโลก ควบคู่ไปกับโรงงานในสิงคโปร์ สหรัฐฯ และยุโรป เช่นเดียวกับ Infineon ผู้ผลิตชิปจากเยอรมนี ที่ประกาศเมื่อเดือน ก.ค. 2565 ว่ามีแผนจะสร้างศูนย์ผลิตชิปวงจรรวม (Wafer Fabrication) ในมาเลเซีย ส่วน Neways ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปจากเนเธอร์แลนด์อย่าง ASML ประกาศเมื่อเดือน มี.ค. 2567 ว่าจะสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเมืองกลัง นอกจากนี้ บริษัทชิปจีนหลายแห่งก็เลือกมาเลเซียเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตชิปด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ มาเลเซียมีข้อได้เปรียบจากแรงงานที่มีทักษะในการบรรจุ ประกอบ และทดสอบ และยังมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าที่อื่น ทำให้มาเลเซียสามารถส่งออกโดยมีศักยภาพทางการแข่งขันที่ดีกว่า นอกจากนี้ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียยังทำให้มาเลเซียดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ด้วย หน่วยงานพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซียเปิดเผยว่า มาเลเซียมีส่วนแบ่งในตลาดบริการบรรจุ ประกอบ และทดสอบชิป อยู่ราว 13% ของทั้งโลก โดยแม้ปี 2566 ความต้องการชิปทั่วโลกค่อนข้างซบเซา แต่มาเลเซียก็ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมได้เพิ่มขึ้น 0.03% แตะ 8.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ยังเปิดเผยว่ามาเลเซียมีแผนมุ่งเน้นการผลิตชิปในส่วนหน้า (Front End) มากขึ้น ซึ่งการผลิตส่วนหน้าหมายถึงการผลิตชิปวงจรรวมและกระบวนการโฟโตลิโทกราฟี (Photolithography) จากเดิมที่เน้นการผลิตในส่วนหลัง (Back End) อย่างการบรรจุและประกอบ (กรุงเทพธุรกิจ, 5 เม.ย. 2567)