ข่าวเศรษฐกิจ
จากกรณีที่บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้หยุดการดำเนินงานในธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสับปะรดกระป๋องของบริษัท ทิปโก้ ไพน์แอปเปิ้ล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TIPCO ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2567 เนื่องจากผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องและสภาวะความผันผวนของปริมาณและราคาของวัตถุดิบนั้น แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูประบุว่า เกษตรกรสามารถเจรจาขายสับปะรดให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ได้ เพราะการซื้อ-ขายสับปะรดเป็นลักษณะ Contract Farming อีกทั้งปัจจุบันผลผลิตสับปะรดในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการผลิตสับปะรดกระป๋องซึ่งมีอยู่ราว 15 ราย (รวม TIPCO ด้วย) โดยผลผลิตสับปะรดในประเทศปี 2567 คาดว่าจะมีปริมาณ 7 แสนตัน แต่ผู้ผลิตสับปะรดกระป๋องมีกำลังการผลิตวันละ 5,000 ตัน หรือราว 1.5 ล้านตันในปี 2567
ทั้งนี้ บริษัท สยามอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ SAICO เปิดเผยว่า SAICO และ TIPCO ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบสับปะรดอย่างหนักต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว เนื่องจากปัญหาความร้อน แล้ง ไม่มีน้ำ ทำให้ผลผลิตสับปะรดทั้งระบบเหลือเพียง 660,000 ตัน ทำให้มีการแย่งกันซื้อจากเกษตรกรส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นสูงมาก จากช่วงปกติราคากิโลกรัมละ 5 บาท ปัจจุบันขึ้นไปสูงถึงกิโลกรัมละ 13 บาท ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมันและค่าแรงกำลังจะปรับขึ้นอีก ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระหนักขึ้น อีกทั้งวัตถุดิบสับปะรดสดไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศมาผลิตได้ เพราะต้องควบคุมเรื่องโรคและแมลง การขนส่งต้องใช้ตู้แช่เย็น ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูง และช่วงที่ผ่านมาต่างประเทศก็ประสบปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการคาดว่าผลผลิตสับปะรดในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นหลังจากภาวะ El Nino ได้ผ่านไปแล้ว (ประชาชาติธุรกิจ, 3-6 ต.ค. 2567)