ข่าวเศรษฐกิจ
ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการลดค่าไฟฟ้าให้เหลือหน่วยละ 3.70 บาท จากปัจจุบันค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 ที่หน่วยละ 4.15 บาทนั้น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ขานรับมาตรการดังกล่าว โดยระบุว่าการลดค่าไฟฟ้าเป็นนโยบายที่ดีต่อภาคธุรกิจ เพราะเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งนี้ หากค่าไฟฟ้าลดเหลือหน่วยละ 3.70 บาทได้จริงประเมินว่าจะประหยัดต้นทุนให้ทุกภาคส่วนไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท เทียบจากการใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศ 200,000 ล้านหน่วย ซึ่งจะช่วยเพิ่ม GDP ได้อีก 0.5% หากเงินดังกล่าวถูกหมุนเวียนกลับไปเป็นการลงทุนหรือการจ้างงานใหม่
เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว รวมทั้งยังเสนอว่าการผลิตไฟฟ้าของไทยควรมีโครงสร้างที่ดี คือ 1) ต้องไม่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป 2) ควรเปิดเสรีโซลาร์ทั้งระบบ ทั้งโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำ ไม่ใช่แค่การปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป 3) การเปิดเสรีโซลาร์ไม่ควรปลดล็อกเฉพาะใบอนุญาต รง.4 แต่ควรมีระบบเน็ตบิลลิ่ง (Net Billing) คือ เมื่อไฟฟ้าเหลือรัฐบาลจะรับซื้อในราคาที่เหมาะสม ทำให้ผู้ลงทุนได้คืนทุนเร็วขึ้นและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้าราคาถูก 4) ไม่ควรเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ให้เกิดต้นทุนเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่สูง (www.bangkokbiznews.com, 7 ม.ค. 2568)