บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

Build Better World ... เปลี่ยนโลกให้ดีกว่าเดิมด้วยสมการธุรกิจยั่งยืน

            เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสนำทีม EXIM BANK ลงพื้นที่ อ.ปัว จ.น่าน เพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งภูมิปัญญาและสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจท้องถิ่นให้พร้อมสู่เวทีโลก ควบคู่กับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะผมเชื่อว่าบ้านจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนต้องทำให้คนในบ้านแข็งแรงและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล ท่ามกลางภาวะที่โลกกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดย World Economic Forum ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับ GDP แคนาดา) และอาจสูงถึง 4% ของ GDP โลกภายในปี 2593 หากไม่ดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนานาประเทศลงมือแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ทำปฏิญญาร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) โดยไทยตั้งเป้าให้สำเร็จภายในปี 2608 เช่นเดียวกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิด “Open Connect Balance” หนึ่งในวาระสำคัญคือการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยเน้นการสร้างสมดุลในทุกมิติ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแลโลก โดยในส่วนของภาคธุรกิจควรปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ภายใต้สมการธุรกิจยั่งยืน People + Planet ® Profit
แคร์คน แคร์โลก จะนำไปสู่กำไรและธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน

People … แคร์ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจของธุรกิจยุคใหม่คือการนึกถึงความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้ง (Customer Centricity) ช่วยปิด Pain Point เปิดรับฟังความคิดเห็น ซื่อสัตย์และจริงใจต่อลูกค้าผ่านการมอบคุณค่า (Value Proposition) และสร้างความพึงพอใจสูงสุด สอดคล้องกับงานวิจัยของ Deloitte ที่ระบุว่าบริษัทที่มุ่งกลยุทธ์ Customer Centricity จะทำกำไรสูงกว่าคู่แข่งถึง 60% ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบกับคู่ค้าตลอดวงจรธุรกิจ โดยเฉพาะการค้าอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดการนำเข้าของหลายประเทศ เช่น EU นอกจากนี้ ต้องดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสวัสดิการและผลตอบแทนที่เหมาะสม ยอมรับความหลากหลายทั้งเพศ ศาสนา เชื้อชาติ และอื่นๆ (Diversity & Inclusion) สร้าง “Empathic Workplace” เมื่อพนักงานทำงานอย่างมีความสุข ย่อมส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีแก่ลูกค้าด้วย

Planet ... แคร์สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน การขับเคลื่อนธุรกิจต้องเป็นมิตรและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่งเสริมให้ชุมชนเติบโตไปพร้อมกัน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่บริษัททั่วโลกใช้วัดความสำเร็จในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่านดัชนีหรือการจัดอันดับของสถาบันระดับโลก โดยเฉพาะ Dow Jones Sustainability Indices (ปี 2564 มีบริษัทไทยติดอันดับ 25 แห่ง) รวมถึงดัชนีของไทย เช่น SETTHSI (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย), ESG Index (สถาบันไทยพัฒน์) นอกเหนือจากภาคธุรกิจแล้ว ภาคธนาคารและสถาบันการเงินก็ตื่นตัวไม่แพ้กัน โดยมุ่งขับเคลื่อนผ่านหลักการ Sustainable Banking และ Responsible Finance ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ตลาดการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Finance) เติบโตก้าวกระโดด โดยปี 2564 มีมูลค่าแตะระดับ 5.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าจาก 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555

Profit ... ผลกำไรและการเติบโตอย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจโดยมี “คน” และ “โลก” เป็นตัวแปรสำคัญในสมการธุรกิจ ไม่เพียงชนะใจผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักตัวเองและรักษ์โลก แต่ยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงช่วยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจขับเคลื่อนและเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

EXIM BANK ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา นำสมการธุรกิจยั่งยืนมาเป็นแก่นในการขับเคลื่อนองค์กร โดยคำนึงถึงเพื่อนพนักงานและประโยชน์สูงสุดของลูกค้า เมื่อคนทำงานทำด้วยหัวใจ ลูกค้าก็สัมผัสถึงความห่วงใยและตั้งใจดีขององค์กรได้ เมื่อเราสร้างอัตลักษณ์ในการดูแลโลก สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน เราก็มีจุดขายที่แตกต่างจากคนอื่น และถือเป็น Sustainable Competitiveness เมื่อ 2 ปัจจัยสมบูรณ์ ตัวแปรสุดท้าย คือ กำไร
จะตามมาเองอย่างแน่นอนตามสมการ 3 P ของ EXIM BANK เติบโตอย่างยั่งยืน

สุดท้ายนี้ ผมขอฝากคำกล่าวของ Gretar Thunberg นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม “You are never too small to make a difference” ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร บริษัทเล็กหรือใหญ่ อยู่ในอุตสาหกรรมใด ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะแก้ปัญหาและช่วยกันเปลี่ยนโลกให้ดีกว่าเดิมได้ครับ

 

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview