บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

โลกแปรปรวน ... ใกล้กว่าที่คิด หนักกว่าที่คาด

โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนที่ไม่เพียงแต่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้น อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่พายุยางิ ซึ่งถือเป็นพายุที่รุนแรงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ พัดถล่มเกาะไห่หนานของจีนและพื้นที่ตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงเป็นวงกว้าง ขณะที่แม้พายุไม่ได้พัดเข้ามาถึงประเทศไทยโดยตรง แต่อิทธิพลของพายุได้ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณ จ.เชียงราย ซึ่งเหตุการณ์พายุยางิเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า Climate Change กำลังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของเราอย่างรุนแรงและเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ทั้งนี้ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจาก Climate Change โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งอยู่อันดับ 9 ของโลกที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากการจัดอันดับโดย Global Climate Risk Index (CRI) แต่หลายท่านคงยังไม่ทราบว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ถูกจัดอยู่ในประเทศเสี่ยงอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน อย่างเมียนมาอันดับ 2 เวียดนามอันดับ 13 กัมพูชาอันดับ 14 และ สปป.ลาว อันดับ 52 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าภูมิภาคนี้กำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบและความท้าทายที่รุนแรงขึ้น

ก่อนอื่นผมขอย้อนรอยเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวและเปราะบางของภูมิภาคนี้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ

  • พายุไซโคลน Nargis : สร้างความสูญเสียต่อชีวิตของชาวเมียนมา โดยพายุ Nargis พัดถล่มเมียนมาในปี 2551 นับเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมียนมาและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1.4 แสนคน
  • มหาอุทกภัยปี 2554 : สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรง ซึ่งธนาคารโลกประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.44 ล้านล้านบาท) และส่งผลให้ GDP ไทยติดลบ 0.1% ในปีดังกล่าว
  • ภัยพิบัติบ่อยครั้งและรุนแรง : สร้างความเสียหายต่อเวียดนามอย่างเนื่อง โดยในปี 2566 เวียดนามเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติกว่า 1,100 ครั้ง และล่าสุดยังประสบภัยพิบัติรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีจากพายุยางิ

          ปัญหา Climate Change กำลังก่อให้เกิดความเสียหายและสร้างภาระทางการเงินเป็นมูลค่ามหาศาลใน 2 มิติหลัก คือ 1) ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่จำเป็นต้องใช้เงินสำหรับซ่อมแซม/เยียวยาผลกระทบ (Damage & Losses) ซึ่งครอบคลุมความเสียหายจากทรัพย์สินที่ถูกทำลายและการสูญเสียการผลิต/รายได้ ตลอดจนความเสียหายในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาค สังเกตได้จากสัดส่วน GDP ภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาอยู่ที่ 17% สปป.ลาว 15% เมียนมา 22% และเวียดนาม 12% ส่วนไทยอยู่ที่ 9% และ 2) ต้นทุนที่เกิดจากการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Cost) โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสีเขียวและเทคโนโลยีสะอาดเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่แต่ละประเทศได้ตั้งเป้าไว้ โดยกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี ค.ศ. 2050 ส่วนไทยตั้งเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี ค.ศ. 2065 ขณะที่เมียนมายังไม่ได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero Emissions ที่ชัดเจน

    จะเห็นได้ว่า Climate Change ที่รุนแรงและถี่ขึ้นตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงประเทศมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงยังเป็นโอกาสที่น่าสนใจของการลงทุนธุรกิจสีเขียวในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง EXIM BANK ในฐานะ Green Development Bank พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจสีเขียวทั้งในประเทศและไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง EXIM BANK ได้บุกเบิกและสนับสนุนโครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีประสบการณ์และมีเครือข่ายพร้อมสนับสนุนการขยายโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในทุกมิติ

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • calendar icon24.02.2022
Most Viewed
more icon
  • calendar icon22.01.2019
  • calendar icon18.09.2018
  • calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview