การเงินธนาคาร

ฮ่องกงเผชิญความท้าทายในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก

ฮ่องกงเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกด้วยสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่อ GDP
สูงที่สุดในโลกถึงราว 250% อีกทั้งยังเป็นประตูสำคัญที่เชื่อมจีนกับตลาดการเงินโลกและเป็นศูนย์กลางการทำธุรกรรมเงินหยวนนอกประเทศ (Global Offshore Renminbi Business Hub) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีความสำคัญต่อการลงทุนของไทยในต่างประเทศ สังเกตได้จากยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของไทยอยู่ในฮ่องกงมากที่สุด ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าส่วนใหญ่มีการดำเนินธุรกิจที่แท้จริงอยู่ในประเทศอื่น แต่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนในฮ่องกงเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ฮ่องกงเผชิญบททดสอบความสามารถในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่กลางปีที่เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของชาวฮ่องกงจากการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ลุกลามไปสู่การต่อต้านรัฐบาลและการเรียกร้องประชาธิปไตย จนทำให้ฮ่องกงต้องตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี และล่าสุดในช่วงต้นปี 2563 ฮ่องกงยังถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เนื่องจากฮ่องกงเป็นพื้นที่ที่มีชาวจีนเข้าออกเป็นจำนวนมาก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามถึงความมั่นคงและศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกของฮ่องกง ซึ่งการตอบคำถามอาจใช้การพิจารณาปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกเพื่อประเมินว่าปัจจัยใดบ้างที่กำลังถูกสั่นคลอนและอาจทำให้ฮ่องกงสูญเสียความสามารถในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในอนาคต

ฮ่องกงกับการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก

ศูนย์กลางทางการเงิน หมายถึง เมืองหรือประเทศที่สามารถดึงดูดให้สถาบันการเงินจำนวนมาก ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินระดับภูมิภาคไปจนถึงสถาบันการเงินระดับโลก เข้ามาลงทุนและใช้เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ปัจจุบันเมือง/ประเทศที่ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกมีอยู่หลายแห่ง ซึ่งหากพิจารณาจาก Global Financial Centres Index (GFCI) ฮ่องกงมีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นรองเพียงนครนิวยอร์กและกรุงลอนดอนเท่านั้น ซึ่งหากวิเคราะห์จากปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำ ก็จะพบจุดแข็งของฮ่องกง ดังนี้

  • สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเอื้อต่อการประกอบธุรกิจการเงิน ครอบคลุมตั้งแต่ความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจที่สะดวกและรวดเร็ว ไปจนถึงกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนของธุรกิจต่างชาติ สะท้อนได้จากความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของฮ่องกงที่เพิ่งประกาศเมื่อต้นปี 2563 ที่อยู่ในอันดับ 3 จากการจัดอันดับทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก ขณะที่อันดับย่อยในหมวดการจ่ายภาษี (Paying Taxes) ของฮ่องกงอยู่อันดับ 2 จาก 190 ประเทศ เนื่องจากระบบภาษีไม่ซับซ้อนและเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำต่อภาคธุรกิจ ขณะที่นโยบายการเงินของฮ่องกงถือได้ว่าค่อนข้างเปิดเสรีในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และยังมีประเทศที่ทำอนุสัญญาภาษีซ้อนด้วยถึงกว่า 40 ประเทศ
  • ความพร้อมของบุคลากรในภาคการเงิน ศูนย์กลางทางการเงินถือเป็นแหล่งรวมสถาบันการเงินประเภทต่างๆ จากทั่วโลกมาไว้ที่เดียวกัน อาทิ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน และบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ดังนั้น เมือง/ประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินจึงมีความต้องการบุคลากรจำนวนมากที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาทิ การเงิน การบัญชี เศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งบุคลากรเหล่านี้ควรใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับบุคลากรหลากหลายเชื้อชาติซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสารและทำงาน ซึ่งจากประวัติศาสตร์ของฮ่องกงที่ผ่านการปกครองจากอังกฤษได้สร้างรากฐานด้านระบบการศึกษาที่ดีและการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงกลายเป็นจุดแข็งด้านทรัพยากรมนุษย์ที่สอดรับกับการเป็นศูนย์กลางทางการเงินได้เป็นอย่างดี
  • ความเชื่อมั่นและการยอมรับในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เป็นผลจากการวางระบบเศรษฐกิจและระบบกฎหมายที่เป็นแบบแผนสากลจากช่วงการปกครองของอังกฤษ รวมถึงหลังจากอังกฤษคืนการปกครองฮ่องกงให้กับจีนตั้งแต่ปี 2540 จีนยังคงระบบเศรษฐกิจและระบบกฎหมายดังกล่าวด้วยนโยบายการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ ทำให้ฮ่องกงได้รับการยอมรับทั้งจากสถาบันการเงินที่จะเข้ามาลงทุนและจากผู้ใช้บริการทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น การฝากสินทรัพย์ทางการเงิน การระดมทุน การโอนเงินระหว่างประเทศ และการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น
  • ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการดำเนินงานของภาคการเงิน ฮ่องกงมีความพร้อมด้านนี้อยู่มากจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาคการเงินถือเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง เนื่องจากมีการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งต้องดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์และรวดเร็ว อีกทั้งยังต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูลในระดับสูงสุด เนื่องจากเป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมหาศาล

การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงกำลังเผชิญความท้าทาย

ฮ่องกงกำลังถูกทดสอบความแข็งแกร่งของปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว เนื่องจากความวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วงสร้างความกังวลว่าจีนจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกงมากขึ้นในระยะข้างหน้า และอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของการดำเนินนโยบายของฮ่องกง รวมถึงอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจและระบบกฎหมายที่เป็นแบบแผนสากลมาตั้งช่วงการปกครองของอังกฤษต้องเปลี่ยนไป ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าบริษัททางการเงินที่ไม่ได้มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับจีนมากนักจะเริ่มพิจารณาย้ายฐานการลงทุนไปยังศูนย์กลางทางการเงินอื่น อาทิ สิงคโปร์ เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนดังกล่าว ขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังสั่นคลอนปัจจัยสนับสนุนด้านความพร้อมของบุคลากร เนื่องจากในเบื้องต้นการแพร่ระบาดทำให้บริษัทต่างชาติในฮ่องกงหลายแห่งให้พนักงานเดินทางกลับประเทศของตนเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และอาจทำให้การให้บริการต้องหยุดชะงัก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ต้องการการบริการที่รวดเร็วและต่อเนื่อง แม้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาทิ การติดต่อสื่อสารและการทำงานจากระยะไกล จะสามารถบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งก็ตาม

ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลบั่นทอนการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกง อาจทำให้นักลงทุนที่ต้องการจัดตั้ง Holding Company เพื่อใช้เป็นประตูสู่การลงทุนในตลาดโลกเลือกลงทุนในประเทศอื่นแทน ซึ่งประเทศในเอเชียที่โดดเด่นและเป็นคู่แข่งกับฮ่องกงมาโดยตลอดเห็นจะเป็นสิงคโปร์ที่มีนโยบายสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการเงินอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการที่สิงคโปร์ทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศต่างๆ ถึงเกือบ 90 ประเทศและยังได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจของหลายประเทศยังเติบโตในเกณฑ์ดีและยังมีเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าฮ่องกง ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายจากความวุ่นวายทางการเมือง จะสามารถใช้จุดแข็งที่มีอยู่ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อสู่การลงทุนในจีน เพื่อรักษาศักยภาพการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในอนาคตต่อไปได้หรือไม่

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview