Hot Issues

จับสัญญาณเศรษฐกิจจีนปี 2565 ... ชะลอตัวท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยง

ประเด็นสำคัญ

  • เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4 ปี 2564 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ขณะที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณเร่งเครื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต
  • แม้เศรษฐกิจจีนปี 2565 ยังขยายตัวจากการเร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน แต่ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เข้มงวด และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี ที่ราว 5%
  • การส่งออกไทยไปจีนในระยะข้างหน้ามีทิศทางชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจจีน ขณะที่มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เข้มงวดอาจเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและกระจายสินค้าไทยในจีน นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ : โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณอ่อนแรงลง

  • เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเป็นลำดับ แม้เศรษฐกิจจีนทั้งปี 2564 จะขยายตัวสูงถึง 1% ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ที่ 6% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวในไตรมาสแรกที่สูงถึง 18.3% (Y-o-Y) ด้วยอานิสงส์ของความต้องการที่อั้นมาจากช่วงก่อนหน้า หรือ Pent-up Demand ที่กลับมาอย่างรวดเร็ว ก่อนที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอการขยายตัวลงเหลือ 4% ในไตรมาส 4 ปี 2564 นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 และต่ำกว่าอัตราการขยายตัวรายไตรมาสในช่วงก่อน COVID-19 ทั้งนี้ โมเมนตัมการฟื้นตัวที่อ่อนแรงเป็นผลจากการเผชิญหลายปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า และภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ตลอดจนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เข้มงวด

ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ

เศรษฐกิจจีนปี 2565 ที่ยังขยายตัวได้เป็นผลจากการเร่งเครื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังนี้

  • มาตรการทางการเงิน : เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 ธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลง 1% เหลือ 2.85% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย Reverse Repos อายุ 7 วัน ลง 0.1% เหลือ 2.10% นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นและระยะกลาง

  • มาตรการทางการคลัง : รัฐบาลจีนประกาศจัดสรรวงเงินแก่รัฐบาลท้องถิ่น46 ล้านล้านหยวน (ราว 2.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในไตรมาสแรกปี 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจเป้าหมาย อาทิ ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น
  • จีนมีท่าทีที่จะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในเดือน มี.ค. 2565 อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และพร้อมส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางจีนอาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยและปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio : RRR) อีกระลอก เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลตั้งเป้าขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ในปี 2565

ข้อสังเกต : การที่อัตราเงินเฟ้อของจีนอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทำให้รัฐบาลจีนมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับปัจจัยกดดันจากเงินเฟ้อมากนัก โดยอัตราเงินเฟ้อจีนเดือน ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 1.5% นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจจีนยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีแนวโน้มกดดันการขยายตัว ดังนี้

  • นโยบาย Zero COVID-19 หรือการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีเป้าหมายลดผู้ติดเชื้อให้เหลือศูนย์ ทำให้รัฐบาลดำเนินมาตรการปิดเมืองทันทีในพื้นที่ที่ตรวจพบการระบาด รวมถึงมีการจำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่และจำกัดการออกจากเคหะสถานอย่างเข้มงวด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่และเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหากเกิดกรณีพบการติดเชื้อในเมืองท่าหรือศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญ ไปจนถึงเมืองสำคัญในภาคการผลิต ก็จะส่งผลกระทบต่อ Supply Chain การผลิตและการขนส่งเป็นวงกว้าง

  • ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจีนจะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมและจัดระเบียบภาคอสังหาริมทรัพย์ (เป็นภาคธุรกิจสำคัญที่มีสัดส่วนราว 14.5% ของ GDP จีน*) อย่างต่อเนื่องในปี 2565 เพื่อลดการเก็งกำไรและช่วยควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยล่าสุดจีนเตรียมนำร่องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเมืองใหญ่บางแห่ง หลังจากดำเนินมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563 ด้วยการกำหนดเกณฑ์โครงสร้างทางการเงินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้สำหรับประเมินการให้สินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นภายใต้มาตรการ Three red lines** และจำกัดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสถาบันการเงินมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้การขยายตัวของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนชะลอลงจาก 7% ในปี 2563 เหลือ4.4% ในปี 2564 ทั้งนี้ สำหรับปัญหาหนี้ของ China Evergrande Group ยังคงไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน และยังถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องในปี 2565

หมายเหตุ :   * ข้อมูลรวมภาคบริการก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์

                   ** มาตรการที่กำหนดให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องผ่านการประเมินหลักเกณฑ์ทางการเงิน 3 ข้อ คือ 1) อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวม (Total liability-to-total asset ratio) ไม่รวม Advance receipts ต้องน้อยกว่า 70% 2) อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Net gearing ratio) ต้องน้อยกว่า 100% และ 3) อัตราส่วนเงินสดต่อหนี้ระยะสั้น (Cash-to-short-term debt ratio) ต้องมากกว่า 1 เท่าของเงินสด จึงจะสามารถขอสินเชื่อหรือระดมทุนใหม่ได้

  • ภาคส่งออกยังเปราะบาง ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกและตลาดส่งออกหลักของจีนอย่าง EU และ สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ล่าสุด IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 เหลือ 4% นอกจากนี้ จีนยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ยังไม่ยุติ เนื่องจากปัจจุบันจีนยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ได้ ส่งผลให้สหรัฐฯ ยังใช้มาตรการทางภาษีกับจีนต่อไป รวมทั้งยังเป็นความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจใช้เป็นข้อเรียกร้องที่จะใช้มาตรการทางการค้ากับจีนเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

ผลกระทบต่อ CLMV  

  • การส่งออกของ CLMV : การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2565 ตามภาวะเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันขึ้นกับลักษณะสินค้าส่งออก โดยเมียนมาและ สปป.ลาว คาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรและสินแร่ ขณะที่เวียดนามและกัมพูชาจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากมีการส่งออกสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายส่วนหนึ่งไปจีน
  • การลงทุนของจีนใน CLMV : ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก โดยแนวโน้มการลงทุนใน CLMV ขึ้นอยู่กับปัจจัยดึงดูดการลงทุนของประเทศดังกล่าวมากกว่า อาทิ แต้มต่อในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก มาตรการดึงดูดการลงทุน ตลอดจนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ CLMV นอกจากนี้ การที่จีนยังคงเดินหน้าโครงการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI ในกลุ่ม CLMV อย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนจีนจากโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นใน CLMV เช่น โครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ต้น ธ.ค. 2564 ซึ่งสร้างโอกาสการลงทุนให้กับ สปป.ลาว ในหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจ Warehousing & Logistics นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงโครงการที่กำลังก่อสร้างในกัมพูชา เช่น Siem Reap New International Airport และโครงการดาราสาคร (Dara Sakor) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ประกอบด้วยสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรม ไปจนถึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ในกัมพูชา สำหรับเวียดนามยังคงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนจีน ได้อย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวดี ขณะที่การรัฐประหารในเมียนมาทำให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตก ชะลอการลงทุนในเมียนมา สถานการณ์ดังกล่าวกลับเอื้อให้นักลงทุนจีนมีโอกาสพัฒนาโครงการต่างๆ ในเมียนมาสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • ปัญหาขาดแคลนชิปยืดเยื้อต่อในปี 2565 ... ผลกระทบต่อผู้ผลิตในไทย

    ประเด็นสำคัญ ปัญหาขาดแคลนชิปซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วราว 1 ปี ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อในปี 2565 จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีชิปเป็นส่วนประกอบ อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านต...

    calendar icon08.12.2021
  • China Evergrande Group ส่งสัญญาณผิดนัดชำระหนี้

    ประเด็นสำคัญ China Evergrande Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องและอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด หลายฝ่ายคาดว่าในเชิงโครงสร้างรัฐบาลจีนจะสามารถบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวได้ และ...

    calendar icon20.09.2021
Most Viewed
more icon
Tag
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview