บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
หากกล่าวถึงประเทศที่มีการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนโดดเด่นที่สุดในอาเซียนในเวลานี้คงหนีไม่พ้นเวียดนาม ซึ่งเวียดนามมีการวางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ รวมถึงการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบและการเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ตลอดจนการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นแหล่งลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงผู้ประกอบการไทย จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของอาเซียน
ล่าสุดเวียดนามเตรียมประกาศใช้แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII : PDP8) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติต่างให้ความสนใจ เนื่องจากแผนฉบับนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานของเวียดนามในระยะข้างหน้า ซึ่งจะมีผลต่อแผนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ บทความฉบับนี้จะฉายภาพให้เห็นถึงโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนผ่าน 4 ก้าวย่างใหม่ของเวียดนาม โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
New Leader : เวียดนาม...ประเทศผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของอาเซียนในปัจจุบัน
เวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ซึ่ง IMF คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 จะขยายตัว 6% ขณะที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) จะขยายตัวเฉลี่ยเกือบ 7% ต่อปี เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ภายในปี 2578 ทำให้รัฐบาลเวียดนามคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นราว 10-12% ต่อปี ไปจนถึงปี 2573 ขณะที่การผลิตไฟฟ้าในประเทศมีแนวโน้มไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เวียดนามจึงต้องการการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ ในปี 2563 เวียดนามมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ที่ 69,258 เมกะวัตต์ โดยแหล่งพลังงานหลักของเวียดนาม คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งมีสัดส่วนราว 42.5% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ พลังน้ำ (30%) พลังงานหมุนเวียน (25.7%) และนำเข้าไฟฟ้า (1.8%) สำหรับในช่วงปี 2562-2563 เวียดนามมีการลงทุนพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์อย่างก้าวกระโดด ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 100 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 4,750 เมกะวัตต์ในปี 2562 (ก้าวแซงหน้าไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย) และเพิ่มขึ้นเป็น 16,640 เมกะวัตต์ในปี 2563 ทำให้เวียดนามติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดในโลก
New Masterplan : แผน PDP 8...กุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนของเวียดนาม
ปัจจุบันร่างแผน PDP 8 ยังอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรีเวียดนามอนุมัติ โดยร่างแผนดังกล่าวผ่านการแก้ไขมาหลายครั้งจนทำให้การบังคับใช้ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งการแก้ไขล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หลังจากนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เข้าร่วมการประชุม COP 26 เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และได้ให้คำมั่นต่อที่ประชุมว่าเวียดนามจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 ทำให้เวียดนามต้องปรับโครงสร้างแหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้าในร่างแผน PDP 8 เพื่อให้สอดรับกับแผนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ซึ่งจะมีส่วนทำให้เวียดนามบรรลุเป้าหมาย COP 26
- วัตถุประสงค์หลักของแผน PDP 8 : ร่างแผน PDP 8 เป็นแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติในช่วงปี 2564-2573 และวิสัยทัศน์สู่ปี 2588 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อทดแทนพลังงานหลักของประเทศอย่างเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า และการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) มีหน้าที่รับผิดชอบการวางแผนและดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนด
- โครงสร้างแหล่งพลังงานที่นำมาผลิตไฟฟ้า : ร่างแผน PDP 8 แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของเวียดนามที่มุ่งลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน และกระจายสู่พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายให้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลักของเวียดนามในอนาคต ทั้งนี้ ร่างแผน PDP 8 มีการเสนอให้จำกัดจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยเวียดนามจะไม่อนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ แต่โครงการที่ได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีเวียดนามภายใต้แผน PDP 7 ฉบับปรับปรุง และได้รับการประเมินจาก MOIT ว่ามีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อได้สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ขาดหายไปจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ผ่านการประเมิน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนหลายแห่ง จะถูกทดแทนด้วยกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
เป้าหมายสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานประเภทต่างๆ
แหล่งพลังงาน |
2363 |
ร่าง PDP 8 (ฉบับแก้ไขเดือนตุลาคม 2564) |
|
2573 |
2588 |
||
ถ่านหิน |
29.5% |
28.3-31.2% |
15.4-19.4% |
ก๊าซธรรมชาติ |
13.0% |
21.1-22.3% |
20.6-21.2% |
พลังน้ำ |
30.0% |
19.4-20.5% |
12.8-13.6% |
นำเข้าไฟฟ้า |
1.8% |
3.0-4.0% |
3.3-3.4% |
พลังงานหมุนเวียน |
25.7% |
24.2-25.8% |
39.7-42.5% |
- พลังงานลม |
0.9% |
9.0-9.6% |
18.4-20.8% |
- พลังงานแสงอาทิตย์ |
24.0% |
14.3-15.3% |
19.3-19.7% |
- พลังงานชีวมวล |
0.8% |
0.9% |
2.0% |
ที่มา : Baker McKenzie
New Target : พลังงานลมนอกชายฝั่ง...แหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่เวียดนามมุ่งให้ความสำคัญ
ภายใต้แผน PDP เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนทุกประเภททั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล โดยเฉพาะพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore Wind Power) ที่จะมีบทบาทสำคัญขึ้นมาก ซึ่งภายใต้แผน PDP 8 คาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่งจะมีมากถึง 3,000-5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 และเพิ่มขึ้นเป็นราว 36,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2588 คิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จึงเห็นได้ว่านอกจากการลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ของเวียดนามที่ยังไปต่อได้ การลงทุนในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งก็จะได้รับการสนับสนุนมากขึ้นไม่แพ้กัน ทั้งนี้ เวียดนามมีศักยภาพสูงในการพัฒนาพลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลบริเวณภาคกลางตอนใต้ อาทิ จ. Ninh Thuan จ. Binh Thuan และ จ. Binh Dinh ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเร็วลมเหมาะสมและมีระดับน้ำทะเลไม่ลึกเกินไป ทำให้เวียดนามมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นประเทศแถวหน้าของอาเซียนในตลาดพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดยในช่วงที่ผ่านมาเวียดนามดึงดูดการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมได้ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายสนับสนุน โดยเฉพาะการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Feed-in-Tariff : FiT) อย่างชัดเจนเป็นระยะเวลา 20 ปีสำหรับโครงการที่สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ได้ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2564 และได้ขยายระยะเวลาการรับสิทธิ์ FiT ออกเป็นก่อนสิ้นปี 2566 เนื่องจากหลายโครงการได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลาเดิม สำหรับการสนับสนุนหลังจากนี้คาดว่ารัฐบาลเวียดนามจะเปลี่ยนไปใช้กลไกการประมูลราคารับซื้อไฟฟ้าแทน ซึ่งยังคงต้องรอความชัดเจนของนโยบายหลังการประกาศใช้แผน PDP 8
New Challenge : โอกาสการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามยังเปิดกว้าง…แต่มีความท้าทายรออยู่
ร่างแผน PDP 8 มีการเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 15 ปี โดยผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนาน 4 ปี และจะเสียภาษีในอัตรา 5% เป็นเวลา 9 ปี และ 10% เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจึงจะเสียภาษีในอัตราปกติที่ 20% นอกจากนี้ ยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องจักรที่เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร รวมถึงสิทธิพิเศษในการเช่าที่ดินตามข้อกำหนดของแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสการลงทุนยังเปิดกว้าง แต่การลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามยังคงมีความเสี่ยงจากแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าที่ยังต้องรอความชัดเจน ประกอบกับเวียดนามยังมีปัญหาด้านระบบสายส่งไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอรองรับปริมาณไฟฟ้าจำนวนมากได้ ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ต้องเผชิญ เนื่องจากบางพื้นที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากเกินความสามารถของระบบสายส่ง ทำให้เกิดปริมาณไฟฟ้าส่วนเกินที่เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าไม่ได้ ผู้ประกอบการหลายรายจึงต้องปรับลดกำลังการผลิตและทำให้ประสบภาวะขาดทุนตามมา ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและได้ออกกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการไฟฟ้า (Law on Electricity) ฉบับใหม่ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนในระบบสายส่งไฟฟ้าได้ จากเดิมที่ผูกขาดโดยภาครัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการระบบสายส่งไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ กฎหมายดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าไปขยายการลงทุนได้มากขึ้นในธุรกิจพลังงาน ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากในเวียดนาม
ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้บุกเบิกการสนับสนุนโครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเทศในกลุ่ม CLMV กลุ่มตลาดใหม่ และกลุ่มตลาดหลักที่ยังมีช่องว่าง เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและนโยบายภาครัฐในการสร้างหลักประกันให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานในราคาที่ย่อมเยา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ผ่านเครื่องมือทางการเงินที่ครบวงจร นอกจากนี้ EXIM BANK ยังได้เปิดสำนักงานผู้แทนแห่งที่ 4 ในนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในการขยายการค้าการลงทุนในตลาดเวียดนาม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Dual-track Policy ของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา ควบคู่กับการทำหน้าที่ศูนย์บริการที่ครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs ในตลาดเวียดนาม
ที่เกี่ยวข้อง
-
จีน-อินเดีย ... ขั้วเศรษฐกิจใหม่ ยิ่งใหญ่บนความเหมือนที่แตกต่าง
หลายปีที่ผ่านมาบริบทเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำทางเศรษฐกิจจากเดิมที่เคยผูกขาดโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กลุ่ม G3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่...
20.09.2024 -
BRICS-11 … New Game Changer รับมือขั้วอำนาจใหม่ รับปีมังกร
สวัสดีปีใหม่และขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ปีมังกร ผมขอเปิดศักราชต้นปีนี้ด้วยข่าวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขั้วใหม่ของโลก นั่นคือ BRICS ซึ่งเดิมเป็นการรวมกลุ่มของประเทศตลาด...
22.01.2024
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา
ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...
26.03.2019