บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

UK…กับ “เส้นทาง 4 สาย” ในยุคเปลี่ยนผ่าน

ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าสปอตไลต์จากทั่วทุกมุมโลกคงจับจ้องไปที่สหราชอาณาจักร (United Kingdom : UK) อย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากมี 2 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร กษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดของ UK และการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของ UK อย่าง Liz Truss ในช่วงที่ UK กำลังเผชิญกับมรสุมที่ถาโถม โดยเฉพาะวิกฤตพลังงานที่ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี และอาจกดดันให้เศรษฐกิจ UK เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นชาติแรกๆ ในยุโรป

วันนี้ก่อนอื่นผมต้องขอร่วมไว้อาลัยกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชน UK อีกครั้ง ขณะเดียวกัน ผมก็มองว่าเป็นความท้าทายอย่างมากของ Truss ในการนำพา UK ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ โดยเฉพาะประเด็นความท้าทายด้านนโยบายเศรษฐกิจ หรือที่สื่อตะวันตกเริ่มเรียกกันสั้นๆ ว่า Trussonomics ซึ่งกำลังเผชิญกับ “เส้นทาง 4 สาย” ดังนี้

  • างขนาน…นโยบายการคลังกับนโยบายการเงินที่สวนทางกัน หลังจาก Truss เข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง
    3 วันก็ประกาศมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อครัวเรือนสูงสุด 2,500 ปอนด์ต่อปี ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 5 แสนล้านปอนด์หรือเกือบ 5% ต่อ GDP อีกทั้งยังมีนโยบายผ่อนคลายด้านภาษีอยู่ใน Pipeline
    อีกจำนวนมากเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดของธนาคารกลางอังกฤษที่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจาก 0.1% ในเดือน ธ.ค. 2564 มาอยู่ที่ 2.25% ในปัจจุบันเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ การที่นโยบายทั้งสองวิ่งสวนทางกันอาจทำให้ผลของนโยบายดังกล่าวหักล้างกันเอง ซ้ำร้ายยังอาจทำให้ปัญหา Double Deficit หรือการขาดดุลแฝด (ขาดดุลการคลัง+ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด) รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่อาจพุ่งเกิน 100% ต่อ GDP และบั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินของ UK สะท้อนได้จากล่าสุด
    เงินปอนด์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าจากช่วงต้นปีกว่า 20%      
  • ทางเชื่อม…นโยบายการค้าเสรีโดยยึดผลประโยชน์ของ UK เป็นหลัก ปัจจุบันแม้ยังไม่เห็นนโยบายการค้าของ Truss ที่ชัดเจนมากนัก แต่การที่ Truss สนับสนุนให้ UK ออกจาก EU (BREXIT) ตอนที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัย Boris Johnson เป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนถึงท่าทีของ Truss ที่ต้องการกำหนดนโยบายการค้าที่เป็นอิสระ เด็ดขาดและยึดผลประโยชน์ของ UK เป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ หลัง  BREXIT มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นปี 2564 UK ได้เปลี่ยนมาใช้โครงสร้างภาษีนำเข้าของตนเอง ซึ่งภาษีส่วนใหญ่ลดลงจากอัตราเดิมของ EU มีส่วนทำให้มูลค่าส่งออกของไทยไป UK ขยายตัวถึง 13% ในปี 2564 และขยายตัวต่อเนื่องราว 12% ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 เทียบกับที่หดตัวเฉลี่ย 4% ในช่วง 10 ปีก่อน BREXIT นอกจากนี้ ผมยังสังเกตว่าหลัง BREXIT UK ได้เร่งทำ FTA ไปแล้วเกือบ 40 ฉบับภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ซึ่งถือว่าเร็วมาก ทำให้ไทยน่าจะใช้โอกาสนี้เร่งเจรจา FTA ในจังหวะที่ UK ต้องการเปิดเสรีเพื่อลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าในภาวะวิกฤตค่าครองชีพ ปัจจุบัน UK เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในยุโรป โดยมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ปี 2560-2564) แม้ในระยะถัดไปอาจชะลอลงบ้างตามทิศทางเศรษฐกิจ UK แต่ก็ยังมีสินค้าส่งออกของไทยหลายชนิดที่ยังขยายตัวได้ อาทิ ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง ขนม อาหารสัตว์เลี้ยง ของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น     
  • ทางพิเศษ…นโยบายการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะการที่ Truss ประกาศไม่ปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 19% เป็น 25% ในปี 2566 ตามแผนเดิม ทำให้ UK ยังถือเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ Truss ยังมีแผนจัดตั้งเขตการลงทุนพิเศษ (Investment Zone) ในหลายภูมิภาคของ UK โดยจะลดภาษีและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ซบเซามานาน โดยตั้งแต่การลงประชามติ BREXIT ในปี 2559 การลงทุนใน UK ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 8% ต่อปี สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนใน UK มากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนใน UK อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างเงินลงทุนของไทยใน UK ที่ขยายตัวถึง 32% ต่อปี ทำให้ปัจจุบัน UK เป็นประเทศที่
    นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนมากเป็นอันดับ 9 โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน ค้าส่งค้าปลีก การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น  
  • ทางเบี่ยง…นโยบายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เบี่ยงเบนไป แม้ Truss จะยืนยันว่า UK ยังยึดเป้าหมาย Net Zero Emission ในปี 2593 แต่ล่าสุดราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 80% ทำให้ Truss ดูจะให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า โดย Truss มีแผนจะระงับการเก็บอากรสีเขียว (Green Levy) ชั่วคราว รวมถึงแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) จากบริษัทพลังงาน และยังหนุนให้ขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับลดภาษีน้ำตาล และยกเลิกการห้ามจัดโปรโมชั่น 1 แถม 1 สำหรับอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สิ่งที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่าอย่างน้อยในระยะสั้น UK อาจเป็นตลาดทางเลือกของสินค้าไทยบางรายการที่ยังไม่พร้อมปรับตัวรับกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ EU ที่เข้มงวดกว่า อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ผมยังย้ำกับผู้ประกอบการไทยเสมอนะครับว่าในระยะยาวยังไงเราก็หนีกระแส Go Green Go Healthy ไม่พ้น ดังนั้น ต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแสดังกล่าวเพื่อเพิ่มโอกาสในการเจาะตลาดที่หลากหลายมากขึ้น 

 

ปัจจุบันแม้นโยบาย Trussonomics ยังต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น แต่การที่เรารู้ทิศทางลมผ่านนโยบายต่างๆ ของตลาดศักยภาพอย่าง UK แต่เนิ่นๆ ก็ทำให้เราสามารถเตรียมทางหนีทีไล่ในการหาโอกาสและป้องกันความเสี่ยงได้ก่อนคู่แข่ง ดังคำกล่าวของซุนวูจากสามก๊กที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง นะครับ    

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview