Hot Issue ประเทศเป้าหมาย

ประเด็นสำคัญ ไทยส่งออกทุเรียนสดเพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่าตัวช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยแทบทั้งหมดกระจุกตัวที่จีน ไทยเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนให้เวียดนามใน 3-4 ปีข้างหน้า หลังจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามเมื่อเดือน ก.ย. 2565 เพราะทุเรียนเวียดนามได้เปรียบด้านต้นทุนและระยะทาง รวมถึงเวียดนามเร่งขยายพื้นที่และพัฒนาการปลูกทุเรียนอย่างต่อเนื่อง การส่งออกทุเรียนสดของไทยไปจีนมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น จากการที่ สปป.ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เร่งเจรจาให้จีนอนุญาตนำเข้าทุเรียนสด รวมถึงคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในจีนจะเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ในปี 2567 ไทยต้องรักษาคุณภาพทุเรียนสดให้มีมาตรฐานสูง รุกช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ   ทุเรียนสด ... สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่เติบโตสูง แต่ส่งออกกระจุกตัวที่ตลาดจีน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับ 1 ของไทย สร้างรายได้เข้าประเทศในปี 2564 มากถึงกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกว่าครึ่งเป็นการส่งออก “ทุเรียนสด” ซึ่งมีมูลค่าส่งออกเติบโตต่อเนื่อง จาก 200.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 เป็น 3,489 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 หรือขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงปีละ 37% (CAGR) โดยมีจีนเป็นตลาดหลักราว 80-90% ของมูลค่าส่งออกทุเรียนสดทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนสดของไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการที่ปัจจุบันหลายประเทศมุ่งส่งออกทุเรียนสดไปจีนมากขึ้น จึงต้องติดตามว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นแค่แรงกระเพื่อมหรือจะเป็นแรงกระแทกต่อการส่งออกทุเรียนสดของไทย  ไทยเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีน : คู่แข่งเร่งรุกตลาดจีน-ผลผลิตทุเรียนในจีนเตรียมออกสู่ตลาด ศุลกากรจีนอนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปจีนเป็นประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากไทย โดยเวียดนามเริ่มส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนสดของไทย ดังนี้ >>> ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า : ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนให้เวียดนามในปริมาณจำกัด เพราะทุเรียนสดจากเวียดนามยังไม่มีแบรนด์และแผนการตลาดที่เข้มแข็งเท่ากับไทย อีกทั้งปริมาณผลผลิตทุเรียนของเวียดนามที่ผ่านมาตรฐานส่งออกไปจีนได้ในปัจจุบันยังมีเพียง 68,000 ตัน หรือราว 8% ของปริมาณทุเรียนที่จีนนำเข้า (ปัจจุบันไทยส่งออกทุเรียนไปจีนราว 3 แสนตัน ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมด) ประกอบกับคาดว่าจีนยังมีแนวโน้มบริโภคทุเรียนสดเพิ่มขึ้นอีกมาก การขยายการส่งออกทุเรียนสดของเวียดนามในระยะนี้จึงกระทบต่อการส่งออกทุเรียนสดของไทยไม่มากนัก ทั้งนี้ สถาบันวิจัยอุตสาหกรรมฮวาจิงประเมินว่าตลาดทุเรียนในจีนจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% (ปี 2564-2569) >>> ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า : มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนให้กับเวียดนาม เนื่องจาก เวียดนามมีศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากมีต้นทุนเพาะปลูกต่ำกว่า โดยเฉพาะด้านค่าแรง อีกทั้งมีระยะทางขนส่งสั้นกว่า ทำให้นอกจากจะได้เปรียบทุเรียนไทยในด้านค่าขนส่งที่ถูกกว่าแล้ว ยังทำให้ทุเรียนเวียดนามตัดผลได้แก่กว่าทุเรียนไทย ซึ่งทุเรียนแก่เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนมากกว่าทุเรียนอ่อน ผลผลิตทุเรียนของเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในเวียดนามขยายตัวเฉลี่ยถึงราวปีละ 11% (CAGR) และมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตทุเรียนเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจากราว 5 แสนตันในปี 2564 เป็น 7 แสนตันในปี 2569 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนบางแห่งในเวียดนาม อาทิ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาตใต้ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนไปยังจีนได้ มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 3.6 ตัน มากกว่าผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่ปลูกทุเรียนหลักของไทยอย่าง จ.จันทบุรี ซึ่งอยู่ที่ราว 2 ตัน เนื่องจากเกษตรกรเวียดนามในพื้นที่ดังกล่าว มุ่งพัฒนาทักษะและนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาปรับใช้อย่างจริงจัง สปป.ลาว กัมพูชา และฟิลิปินส์ อยู่ระหว่างเร่งเจรจากับจีนเพื่อส่งออกทุเรียนสดไปจีนเช่นเดียวกับเวียดนามซึ่งหากจีนทยอยเปิดตลาดนำเข้าทุเรียนจากประเทศเหล่านี้ ทุเรียนสดไทยในจีนจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนจาก สปป.ลาว ที่สภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับไทย ทำให้ผลไม้มีรสชาติใกล้เคียงกับผลไม้ไทย อีกทั้งมีรถไฟจีน- สปป.ลาวซึ่งคาดว่าจีนจะเริ่มเปิดให้มีการส่งผลไม้ผ่านเส้นทางรถไฟเข้าจีนได้ในเดือน ธ.ค. 2565 โดยในปี 2564 ทั้ง 3 ประเทศมีผลผลิตทุเรียนรวมกันกว่า 5 แสนตัน หรือเกือบ 50% ของผลผลิตทุเรียนไทย และมีปริมาณส่งออกรวมกันเกือบ 2 แสนตัน หรือราว 1 ใน 4 ของปริมาณส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกทุเรียนใน สปป.ลาว และกัมพูชาส่วนหนึ่งเป็นของบริษัทจีนที่เข้าไปปลูกทุเรียนเพื่อส่งกลับไปจีน   จีนเร่งพัฒนาการปลูกทุเรียนในประเทศต่อเนื่อง จนปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงและพันธุ์หนามดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ขึ้นชื่อในมาเลเซียได้เป็นผลสำเร็จบนพื้นที่มากกว่า 12,500 ไร่ หลังจากเริ่มทดลองปลูกตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตสูงสุดปีละ 75,000 ตัน หรือเกือบ 10% ของปริมาณทุเรียนสดที่จีนนำเข้าในปี 2564 และจะเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ในปี 2567 การที่ผลไม้มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทยในระยะถัดไป เนื่องจากผลไม้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และมีบทบาทในการพยุงการส่งออกในหลายวิกฤต อาทิ ในช่วงวิกฤต COVID-19ซึ่งมูลค่าส่งออกผลไม้เติบโตถึง 12% ในปี 2563 และ 48% ใน 2564 แต่ยังกระทบต่อการกระจายรายได้สู่เกษตรกรอีกด้วย Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้นโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

07.12.2022

CLMV Snapshot : Update ความเคลื่อนไหวและข่าวน่าสนใจใน CLMV เป็นรายไตรมาส 

01.04.2022

ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสุดในกลุ่ม CLMV ขณะที่เมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจคาดว่าจะหดตัวในปี 2565 จากสถานการณ์ COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ เมียนมาและ สปป.ลาว ที่ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับต่ำกว่าอัตราการฉีดวัคซีนโดยรวมของโลก ทำให้ COVID-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ขณะที่กัมพูชามีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนมากที่สุดจากการกระจายวัคซีนภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาหนี้สาธารณะของ สปป.ลาว กดดันความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ขณะที่หนี้สาธารณะของเมียนมาปรับขึ้นรวดเร็ว แต่หนี้สาธารณะของเมียนมาส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมในประเทศ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระมากกว่าหนี้จากต่างประเทศ มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวในทุกตลาด รวมถึงไปเมียนมา สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย ขณะที่แนวโน้มส่งออกของไทยไป CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ   แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศ CLMV ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสุดที่ระดับ 6.6% เนื่องจากคาดว่าจะได้แรงหนุนจากการขยายตัวในภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ประกอบกับภาคส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก มีแนวโน้มเติบโตดีจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 5.7% โดยได้อานิสงส์จากภาคส่งออก ประกอบกับการฉีดวัคซีนที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภค ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากกัมพูชาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วสามารถเดินทางเข้ากัมพูชาโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2564 สำหรับ สปป.ลาว คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.2% เข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 เนื่องจากโครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เตรียมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2564 จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากจีน ขณะที่การส่งออกโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ายังมีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564-2565 ประกอบกับการที่จีนประกาศยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าของ สปป.ลาว จำนวน 97% ของสินค้าที่จีนนำเข้าทั้งหมดจาก สปป.ลาว ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 ทำให้การส่งออกสินค้าไปจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 มีแนวโน้มขยายตัว อย่างไรก็ตาม เมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในปี 2565 ที่ 0.1% โดยวิกฤต COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนเศรษฐกิจของเมียนมา เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน ไปจนถึงการบริโภคภายในประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน : เมียนมาเป็นประเทศที่น่ากังวลที่สุดจากอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในอาเซียน สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนวัคซีนและบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงการที่ชาวเมียนมาบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในเมียนมาอาจล่าช้าไปจนถึงปี 2568 ขณะที่ สปป.ลาว ยังคงมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าอัตราการฉีดวัคซีนของโลก ทำให้เศรษฐกิจยังคงเปราะบางหากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม กัมพูชาเป็นประเทศที่การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้ามากที่สุด เนื่องจากการกระจายวัคซีนภายในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐบาลยังมีแต้มต่อจากการเป็นพันธมิตรของจีน ทำให้กัมพูชาได้รับวัคซีนบริจาคจากจีนมากถึง 27 ล้านโดส ปัญหาหนี้สาธารณะ : ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล สปป.ลาว อยู่ในสถานะที่น่ากังวล เนื่องจากมีหนี้สาธารณะสูงถึง 71% ต่อ GDP โดยในช่วงปี 2564-2568 รัฐบาลมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ (ดอกเบี้ยและเงินกู้ที่ครบกำหนด) เฉลี่ยราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำราว 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ภาครัฐยังทำได้ลำบากในปัจจุบันจากวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาล สปป.ลาว มีการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง และล่าสุดได้ตั้งเป้ารักษาระดับหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2566 ไม่ให้เกิน 64.5% และ 55.4% ตามลำดับ โดยจะชะลอการกู้เงินใหม่และอาจต้องจำหน่ายสินทรัพย์รัฐบาลบางส่วนออกไป ซึ่งแผนดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว แต่จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ระดับหนี้สาธารณะของเมียนมาในปี 2564 ปรับขึ้นรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 58.4% ต่อ GDP จาก 34.2% ในปีก่อนหน้า เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ประกอบกับสถานการณ์เงินจ๊าตในปัจจุบันที่อ่อนค่าลงราว 25% จากช่วงก่อนรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 ทำให้หนี้ต่างประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวถือว่ายังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมในประเทศราว 60% ทำให้มีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระมากกว่าหนี้จากต่างประเทศ ผลกระทบและแนวโน้มต่อการส่งออกของไทยไป CLMV มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวในทุกตลาด ไม่เว้นแม้แต่การส่งออกไปเมียนมาที่ขยายตัวถึง 13% แม้เมียนมาต้องเผชิญความวุ่นวายทางการเมือง แสดงให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย อีกทั้งหลายประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกมีแนวโน้มลดระดับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับเมียนมาลงเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดการความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว ยิ่งจะทำให้การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทวีความสำคัญมากขึ้นสำหรับเมียนมา ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกของไทยไป CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อัตราขยายตัวของการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากการส่งออกไป CLMV ที่เพิ่มขึ้นสูงในปี 2564 ถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติจากที่วิกฤต COVID-19 ทำให้การค้าในปี 2563 หดตัวรุนแรง     Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

03.12.2021

ประเด็นสำคัญ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนเกือบ 50%) ประกาศผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้าย สำหรับยางล้อนำเข้าจากไทย (14.62 - 21.09%) เวียดนาม (0-22.27%) เกาหลีใต้ (14.72-27.05%) และไต้หวัน (20.04-101.84%) พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บ CVD กับยางล้อนำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 6.23-7.89% เพื่อตอบโต้การบิดเบือนค่าเงินด่อง ในปี 2564 คาดว่ามูลค่าส่งออกยางล้อของไทยไปสหรัฐฯ จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บ AD เนื่องจากตลาดรถยนต์สหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563 ในระยะถัดไป หากสหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการ AD ไทยมีแนวโน้มจะเสียส่วนแบ่งตลาดยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในสหรัฐฯ บางส่วนให้แก่แคนาดา อินโดนีเซีย และเวียดนาม จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง รวมถึงจะเผชิญคู่แข่งสำคัญรายใหม่ในตลาดยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จากการปรับกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทยางล้อขนาดใหญ่เพื่อลดผลกระทบของ AD หมายเหตุ : Anti-dumping Duty (AD)  = มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด  และ Countervailing Duty (CVD) = มาตรการตอบโต้การอุดหนุน -------------------------------------------------------------------------------------- สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บ AD ขั้นสุดท้ายกับยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (Light Truck) ที่นำเข้าจากไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยอัตรา AD ขั้นสุดท้ายนี้จะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะทบทวนอัตรา AD ครั้งต่อไป หรืออาจยกเลิกการจัดเก็บหากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USITC) พิจารณาแล้วไม่พบการทุ่มตลาด ซึ่งจะประกาศผลพิจารณาในเดือนกรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ ผู้ผลิตยางล้อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยถูกเรียกเก็บ AD ในอัตรา 17.08% ยกเว้น บจก.ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) และ บจก.แอลแอลไอที (ประเทศไทย) ที่ถูกเก็บในอัตรา 14.62% และ 21.09% ตามลำดับ ยางล้อจากเวียดนามเป็นประเทศเดียวที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ CVD โดยให้เหตุผลว่าธนาคารกลางของเวียดนามแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เงินด่องอ่อนค่าเกินจริง ซึ่งมีผลให้เวียดนามได้เปรียบผู้ผลิตสหรัฐฯ ในการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม แม้เวียดนามถูกเรียกเก็บ CVD แต่เมื่อรวมกับ AD แล้ว ผู้ผลิตยางรายใหญ่ในเวียดนามอย่าง Sailun, Kumho, Bridgestone และ Yokohama (สัดส่วนรวมกว่า 90% ของการส่งออกยางล้อทั้งหมดของเวียดนาม) กลับถูกเรียกเก็บ AD และ CVD รวมกันเพียง 6.23-7.89% ซึ่งต่ำกว่า AD ของผู้ผลิตทุกรายที่อยู่ในไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ดังกล่าวถูกเรียกเก็บ AD ที่ 0% ขณะที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD จากผู้ผลิตรายกลางและรายเล็กในอัตรา 22.27% ยางล้อของเวียดนามจึงมีแต้มต่อในการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งสามดังกล่าว  และยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการขยายกำลังการผลิตในเวียดนามเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย มิติขอบเขตของผลกระทบ : ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากไทยส่งออกยางล้อไปสหรัฐฯ 2,711.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 หรือ 7.9% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนราว 50% และเกือบครึ่งหนึ่งของยางล้อที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กซึ่งถูกเรียกเก็บ AD มิติด้านเวลา : ในระยะสั้น ผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ เก็บ AD ยางล้อของไทยยังมีจำกัด เพราะแม้การเก็บ  AD จะทำให้ต้นทุนการนำเข้ายางล้อจากไทยแพงขึ้น แต่ราคายางล้อของไทย โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่รวม AD แล้วยังต่ำกว่าคู่แข่งสำคัญ ทั้งเกาหลีใต้ เม็กซิโก แคนาดา และญี่ปุ่น ประกอบกับอานิสงส์จากตลาดรถยนต์โลก รวมถึงในสหรัฐฯ ในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากฐานที่ต่ำ ทำให้การส่งออกยางล้อในปี 2564 ยังมีโอกาสขยายตัว โดย IHS Markit คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ จะขยายตัวถึง 24% จากปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป การส่งออกยางล้อของไทยทั้งยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยางล้อบางรายเริ่มปรับกลยุทธ์หลังสหรัฐฯ ใช้มาตรการ AD ด้วยการขยายฐานการลงทุนไปประเทศที่ยังได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาหลังรวมผลกระทบจากมาตรการแล้ว เช่น เวียดนาม มิติประเภทสินค้า : ยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 60% ของยางล้อทั้งหมดที่ถูกเก็บ AD) ไทยจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากเวียดนาม และอาจมีคู่แข่งรายใหม่เกิดขึ้น  โดยผู้ผลิตยางล้อในเวียดนามมีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ Kumho เตรียมลงทุนเกือบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มกำลังการผลิตยางล้อในเวียดนาม เพื่อขยายการส่งออกไปสหรัฐฯ ขณะที่ Sailun ของจีนประกาศแผนลงทุนโรงงานยางล้อรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกขนาดเล็กในกัมพูชาแล้ว ด้วยเงินลงทุน 181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Nankang Rubber Tire ของไต้หวัน ซึ่งถูกเก็บ AD ในอัตรา 101.84% มีแผนย้ายสายการผลิตยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กซึ่งถูกเก็บ AD ไปยังโรงงานของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น ยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 40% ของยางล้อทั้งหมดที่ถูกเก็บ AD) ไทยมีแนวโน้มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในสหรัฐฯ ให้กับคู่แข่งสำคัญอย่างแคนาดา (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ที่ 14.9% รองจากไทยที่ 27.3%) รวมถึงอินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากราคายางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กของไทยหลังรวม AD แล้วสูงกว่าประเทศคู่แข่งดังกล่าว ผลจากมาตรการ AD ต่อการลงทุนตั้งฐานผลิตยางล้อ การที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางล้อรายใหญ่ของโลกประกาศใช้มาตรการดังกล่าวกับหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางล้อสำคัญ รวมถึงไทย ส่งผลต่อตลาดยางล้อโลก ตลอดจน Supply Chain ของอุตสาหกรรม โดยในส่วนของไทย ศักยภาพในการเป็นฐานการลงทุนผลิตยางล้อเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง อาจกระทบต่อแผนการลงทุนของผู้ผลิตยางล้อรายสำคัญในระยะต่อไป Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

09.06.2021

ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายการลงทุนในระยะข้างหน้า พร้อมกับผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเสื้อผ้าสำเร็จรูป การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ใน สปป.ลาว ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากโครงการรถไฟจีน - สปป.ลาว ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่างชาติต้องเน้นประคองธุรกิจ และการลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง   แม้วิกฤต COVID-19 จะยังไม่สิ้นสุดลง แต่การประเมินแนวโน้มตลาดยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางแผนธุรกิจ โดยตลาด CLMV ซึ่งเป็นตลาดการค้าการลงทุนสำคัญของไทย มีทิศทางเศรษฐกิจ นโยบายภาครัฐ และแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรม ในระยะข้างหน้า ดังนี้ ทิศทางเศรษฐกิจของ CLMV

12.05.2021

ประเด็นสำคัญ สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของทั้งกัมพูชาและ สปป.ลาว น่ากังวล เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดและเป็นจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อทั้งปี 2563 จนทำให้ทั้งสองประเทศต้องใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด การแพร่ระบาดที่รุนแรงอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกรณีของกัมพูชาที่การแพร่ระบาดมีแนวโน้มจัดการได้ยาก ธุรกิจไทยประเภทร้านอาหาร/เครื่องดื่ม รวมถึงแฟรนไชส์ ในประเทศดังกล่าว ได้รับผลกระทบมากในช่วง Lockdown ขณะที่ธุรกิจโรงแรม/รีสอร์ทมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้าออกไปตามภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการไทยในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่การส่งออกของไทยไปประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มหดตัวในช่วง Lockdown แต่ภาพรวมทั้งปี 2564 ยังสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างกัมพูชาและ สปป.ลาว ส่งผลให้ทั้งสองประเทศต้องใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดที่สำคัญ และมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ดังนี้ ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 น่ากังวล เนื่องจากเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของทั้งกัมพูชาและ สปป.ลาว ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดและเป็นจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อทั้งปี 2563 ขณะที่ความพร้อมของระบบสาธารณสุขที่ยังมีจำกัด ทำให้การชะลอการระบาดทำได้ค่อนข้างช้า การบริการจัดการสถานการณ์ในกัมพูชายากกว่า สปป.ลาว เนื่องจากประชากรในเมืองพักอาศัยอย่างแออัดกว่า ทำให้ควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ยากกว่ากรณีของ สปป.ลาว การแพร่ระบาดที่รุนแรงอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกรณีของกัมพูชาที่การแพร่ระบาดมีแนวโน้มจัดการได้ยาก อีกทั้งเศรษฐกิจกัมพูชาพึ่งพาภาคบริการ โดยเฉพาะท่องเที่ยว ในสัดส่วนที่สูง ผลกระทบต่อธุรกิจไทย Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

28.04.2021

ประเด็นสำคัญ ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ความเร็วในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน 9 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างจีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ คือขุมพลังที่จะผลักดันมูลค่าส่งออกของไทยในปี 2564 ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้ารายกลุ่มไป 9 ตลาดส่งออกสำคัญ ดังนี้- สินค้าอาหาร ได้รับผลดีจาก COVID-19 และมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 2564- วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน - สินค้าขั้นปลาย สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ ยังไม่ฟื้นตัว สินค้าที่สอดคล้องกับ New Normal จะขยายตัวต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ขณะที่สินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวสู่ระดับปกติ - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - ปัจจุบันเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจาก COVID-19 อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน โดยความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับเชื้อจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ตามปกติ ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งหรือมีงบประมาณเพียงพอในการจัดหาวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้ก่อน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีงบประมาณจำกัดยังต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรส่วนใหญ่ในการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าต่อไปจึงอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่า นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ดี ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องได้ในปีนี้ แม้อัตราการกระจายของวัคซีนต่อประชากรยังไม่มากนัก อาทิ เวียดนาม กลยุทธ์ของผู้ส่งออกไทย...เน้นทำตลาดในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจน การหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว ขณะที่การจะกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งก็ยังมีต้นทุนเพิ่ม ทั้งด้านแรงงานที่ต้องรับและฝึกสอนใหม่จากที่เลิกจ้างไปเพื่อลดต้นทุน เงินทุนหมุนเวียนที่มีจำกัดเนื่องจากต้องใช้จ่ายในช่วงที่ธุรกิจยังไม่กลับมาดำเนินตามปกติ ประกอบกับเงินทุนบางส่วนยังจมอยู่กับสินค้าคงคลัง ดังนั้น การคัดเลือกตลาดที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ก่อนจึงเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการอาจเลือกใช้ในช่วงปี 2564 เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออก ในบรรดาตลาดส่งออกหลักของไทย 25 อันดับแรก มี 9 ประเทศ/ดินแดน ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตดีในปี 2564 [IMF ระบุในรายงาน World Economic Outlook ฉบับล่าสุด (April 2021) ว่าเศรษฐกิจในปี 2564 จะขยายตัวดีต่อเนื่องจากปี 2563 หรือเศรษฐกิจปี 2564 จะฟื้นตัวจาก COVID-19 กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปกติ] ได้แก่ จีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 50% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2563 โดยการส่งออกของไทยไปประเทศกลุ่มนี้ขยายตัว 4.1% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 เทียบกับมูลค่าส่งออกรวมของไทยที่หดตัว 1.2% ในช่วงเดียวกัน จึงนับว่าตลาดเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่หนุนให้การส่งออกโดยรวมของไทยฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้ารายกลุ่ม ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินแนวโน้มส่งออกสินค้ารายกลุ่ม โดยพิจารณาจากสินค้าส่งออก 50 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปยัง 9 ประเทศ/ดินแดนที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีข้างต้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) สินค้าอาหาร 2) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง 3) สินค้าสำเร็จรูป พบแนวโน้มที่น่าสนใจ ดังนี้ สินค้าอาหารเป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีจาก COVID-19 ในช่วงก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 2564 โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้รับผลดีจากการที่ครัวเรือนกักตุนอาหารกระป๋องในช่วง Lockdown และเมื่อตลาดคลาย Lockdown และเริ่มฟื้นตัวก็ได้รับผลดีจากคำสั่งซื้อของกลุ่มภัตตาคารและร้านอาหารที่กลับมาเปิดดำเนินการ ขณะที่ตลาดเอเชีย (จีน ไต้หวัน และเวียดนาม) ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากพอที่จะซื้อผลไม้สดนำเข้าที่ราคาค่อนข้างสูงได้ วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน อาทิ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยการส่งออกวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เคยหดตัวในปี 2563 ทั้งจากการ Lockdown จนกระทบ Supply Chain การผลิต และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่สดใส จะทยอยกลับมาขยายตัวในระดับค่อนข้างดีในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้กิจกรรมในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น สินค้าขั้นปลายมีแนวโน้มแตกต่างกัน ตามกลุ่มสินค้าย่อย โดยสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์อย่างเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนอัญมณีและเครื่องประดับ มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เพราะแม้เศรษฐกิจของตลาดนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มฟื้นตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคยังกลับมาไม่เต็มที่ จึงเลื่อนการซื้อสินค้าไม่จำเป็นและมีราคาแพงออกไปก่อน และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่ความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มนี้จะกลับมา ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงอาจใช้กลยุทธ์ Wait and See เพื่อรอสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนสินค้าที่สอดคล้องกับ New Normal อย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องคอมพิวเตอร์) และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผู้คนหันมาทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีจาก COVID-19 และการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปได้อีกระยะหนึ่ง ขณะที่สินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ อาทิ รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า การส่งออกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวสู่ระดับปกติ โดยสินค้าที่มูลค่าส่งออกลดลงอย่างรุนแรงในปี 2563 มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวได้สูง เนื่องจากมีความต้องการตกค้างจากปีที่แล้วอยู่มาก นอกจากการคัดเลือกตลาดที่ใช่ เช่น ตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหรือฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแล้ว ผู้ส่งออกยังควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออก อาทิ การทำประกันการรับชำระเงินค่าสินค้า และการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อให้เดินหน้าลุยตลาดได้อย่างมั่นใจ Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

20.04.2021

สถานการณ์สำคัญ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) ขั้นต้นเป็นการชั่วคราวสำหรับยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (Light Truck) จากไทยในอัตรา 13.25-22.21% และจากอีก 3 แหล่งนำเข้า ได้แก่ เวียดนาม ในอัตรา 0-22.27% เกาหลีใต้ 14.24-38.07% และไต้หวัน 52.42-98.44% ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้ายสำหรับสินค้าดังกล่าวภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 การส่งออกยางล้อของไทย ยางล้อเป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด (สัดส่วน 44%) ในหมวดผลิตภัณฑ์ยางส่งออกของไทยไปตลาดโลก สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 50% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทย มูลค่าส่งออกยางล้อจากไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด 6 ปี (ปี 2558-2563) หมายเหตุ : โดยปกติแล้วการไต่สวน AD ของสหรัฐฯ ในครั้งแรกของแต่ละสินค้าจะมีการประกาศผล AD ขั้นต้น และเรียกเก็บ AD ในอัตราดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการประกาศผล AD ขั้นสุดท้าย จึงจะใช้อัตรา AD ที่ประกาศในขั้นสุดท้ายเป็นอัตราที่เรียกเก็บจริง หากอัตรา AD ขั้นสุดท้ายสูงหรือต่ำกว่า AD ขั้นต้นที่เรียกเก็บไว้ จะมีการคืนเงินหรือเรียกเก็บส่วนต่างเพิ่ม ---- อากร AD ขั้นต้นที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากแหล่งนำเข้าต่างๆ ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่าการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD ยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กจากไทย (ราว 70% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2562) จะส่งผลให้การส่งออกยางล้อจากไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงต่อจากนี้ไม่สดใสเหมือนเช่นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยมีความเสี่ยงที่จะเสียส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ให้แก่เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจาก ผู้ส่งออกรายใหญ่ในเวียดนามหลายรายถูกเก็บ AD ในอัตราต่ำกว่าไทยมาก อาทิ Sailun และ Kumho ถูกเก็บ AD ในอัตรา 0% ซึ่งแม้รวมกับอากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากเวียดนามในอัตรา 23-10.08% ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 แล้ว ก็ยังต่ำกว่าที่ผู้ส่งออกในไทยถูกเรียกเก็บในอัตรา 13.25-22.21% อยู่มาก ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามมี 9 บริษัทที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD และ CVD ในอัตรารวมต่ำกว่าที่ไทยถูกเก็บ AD ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ 9 บริษัทดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตในเวียดนามมากขึ้น (บางบริษัทที่มีฐานการผลิตทั้งในไทยและเวียดนามอาจใช้วิธีลดกำลังการผลิตในไทยและเพิ่มการผลิตในเวียดนามแทน) ขณะที่การลงทุนของบริษัทผู้ผลิตยางล้อรายใหม่ในเวียดนามอาจดูท่าทีเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ จะถูกเก็บ AD รวม CVD ในอัตราสูงถึง 28.94% อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในเวียดนาม ทั้งจากการเป็นผู้ผลิตยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตยางล้อ อันดับ 3 ของโลกการมี FTA กับประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบในการขยายตลาดในวงกว้างนอกเหนือไปจากตลาดสหรัฐฯ อาทิ EU ประกอบกับตลาดยางล้อในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจเวียดนามที่มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลเวียดนามยังให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการลงทุนยางล้อในเวียดนามเพิ่มในระยะต่อจากนี้ โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่ถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราสูง ราคานำเข้ายางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กของไทยหลังรวม AD สูงกว่าราคายางล้อจากคู่แข่ง ทั้งแคนาดา อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จึงอาจส่งผลให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ หันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการแข่งด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม แต่ในระยะสั้นคาดว่าไทยจะยังคงรักษาตำแหน่งแหล่งนำเข้ายางล้ออันดับต้นๆ ในตลาดสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างเกาหลีใต้ (มีส่วนแบ่งตลาดยางล้อที่ถูกเก็บ ADในรอบนี้เป็นอันดับ 2 รองจากไทยด้วยสัดส่วน 12%) ถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราสูงกว่าไทย เช่นเดียวกับไต้หวันที่ถูกเก็บ AD ในอัตราสูงกว่าไทยมาก ขณะที่เวียดนามยังมีส่วนแบ่งตลาดยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในตลาดสหรัฐฯ เพียง 5% น้อยกว่าไทยซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 20% ประกอบกับราคานำเข้ายางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (สัดส่วนถึง 51% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ) เมื่อรวมกับอัตรา AD แล้วยังต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ เม็กซิโก แคนาดา และไต้หวัน ขณะที่ยางล้อไทยแม้มีราคาสูงกว่ายางล้อของอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ส่วนต่างราคายังอยู่ในระดับที่ไทยพอจะแข่งขันได้ สำหรับการประกาศผล AD ขั้นสุดท้ายกำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคม 2564 หากผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้าย ทำให้ไทยถูกเรียกเก็บ ADในอัตราแย่กว่าเดิมเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ก็จะเปิดโอกาสให้หลายประเทศ อาทิ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้ส่งออกไทยเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่า  แต่หากไทยถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราที่ดีกว่าอัตราขั้นต้น ก็จะช่วยประคับประคองให้ไทยมีโอกาสรักษาส่วนแบ่งตลาดยางล้ออันดับ 1 ในสหรัฐฯ ไว้ได้ แต่ในระยะยาวการแข่งขันมีแนวโน้มทวีความรุนแรง เนื่องจากคู่แข่งของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราสำคัญของโลก ต่างสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น ดังนั้น การที่ผู้ส่งออกยางล้อของไทยจะรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้ามากกว่าการมุ่งเน้นแข่งขันด้านราคา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจนำมาสู่การถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราที่สูงขึ้นอีกในอนาคต

29.01.2021

ประเด็นสำคัญ ปี 2562 เป็นปีแห่งการประท้วงทั่วโลก หลังจากประชาชนในหลายประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก การประท้วงที่เกิดขึ้นครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคตั้งแต่เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา นับเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทั่วโลก โดยชนวนการประท้วงในหลายประเทศส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันใน 3 ประเด็น คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง/ปัญหาคอร์รัปชัน และการต่อต้านกฎหมาย/การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่เกิดการประท้วงจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการประท้วงไปจนถึงการขยายวงกว้างและความรุนแรงของการประท้วงเป็นสำคัญ โดยมีบางประเทศที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และฝรั่งเศส การประท้วงส่วนใหญ่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของธุรกิจส่งออกในบางประเทศ ปี 2562 ที่กำลังจะผ่านไปถือเป็นปีที่โลกตกอยู่ในความวุ่นวายหลังจากประชาชนในหลายประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเด็นที่แตกต่างกันไป นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งคล้ายคลึงกับการเกิดการปฏิวัติอาหรับ หรือ Arab Spring ในภูมิภาคตะวันออกกลางช่วงปี 2553-2554 แต่คลื่นการประท้วงรอบนี้เกิดขึ้นในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่กว้างกว่า ครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคตั้งแต่เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา ถือเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทั่วโลกและเป็นความเสี่ยงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง   ปักหมุดพื้นที่ประท้วงทั่วโลก   สาเหตุของการประท้วงในหลายประเทศ แม้ว่าสาเหตุและเป้าหมายที่ประชาชนในแต่ละประเทศออกมาชุมนุมประท้วงจะแตกต่างกัน แต่ประเด็นปัญหาส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันใน 3 ประเด็น ดังนี้ ปัญหาเศรษฐกิจ การชุมนุมประท้วงในหลายประเทศเริ่มขึ้นจากความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่ค่าครองชีพในประเทศปรับสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางและรถไฟใต้ดินในชิลี การเก็บภาษีคนใช้แอปพลิเคชัน WhatsApp ในเลบานอน และการปรับขึ้นราคาน้ำมันในอิหร่านและเอกวาดอร์ รวมถึงการประท้วงเพื่อร้องเรียนปัญหาค่าครองชีพและความเหลื่อมล้ำในโคลอมเบียและโบลิเวีย ซึ่งการชุมนุมในประเทศเหล่านี้ได้ลุกลามจนจุดติดเป็นประเด็นเรียกร้องทางการเมืองที่ยากจะควบคุม ปัญหาทางการเมือง/ปัญหาคอร์รัปชัน ในหลายประเทศมีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลาออกจากตำแหน่ง เช่น กรณีการสืบทอดอำนาจเป็นเวลานานถึง 20 ปีของประธานาธิบดีในแอลจีเรีย กรณีการทุจริตและคอร์รัปชันของภาครัฐในสาธารณรัฐเช็กและอิรัก ซึ่งการประท้วงในประเทศเหล่านี้ได้ลุกลามบานปลายจนเป็นเหตุรุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การต่อต้านกฎหมาย/การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ได้แก่ การประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง ซึ่งลุกลามและทวีความรุนแรงจนกลายเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและกดดันให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง การประท้วงต่อต้านกฎหมายปราบปรามทุจริตในอินโดนีเซีย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการลดอำนาจของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตของอินโดนีเซีย การประท้วงต่อต้านแผนการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญในฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เป็นอัมพาตอยู่ในขณะนี้ และล่าสุดการประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติพลเมืองฉบับใหม่ในอินเดีย ที่ยอมให้สัญชาติอินเดียแก่ผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ ปากีสถาน บังกลาเทศ และอัฟกานิสถาน แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้เฉพาะผู้อพยพที่นับถือศาสนาฮินดู ซิกข์ พุทธ เชน ปาร์ซี และคริสต์เท่านั้น โดยยกเว้นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นธรรมกับชาวมุสลิมในอินเดีย รวมถึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมที่มาจาก 3 ประเทศดังกล่าว จึงเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล   ความคิดเห็นของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่เกิดการประท้วง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการประท้วงไปจนถึงการขยายวงกว้างและความรุนแรงของการประท้วงเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันการประท้วงในหลายประเทศยังอยู่ในวงจำกัดและยังไม่มีทีท่าว่าจะยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่ต้องจับตามอง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการประท้วงอาจบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว ได้แก่ การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งยืดเยื้อยาวนานกว่า 6 เดือน ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายในประเทศ การค้า การลงทุน รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคการเงิน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฮ่องกง ทำให้ล่าสุดเศรษฐกิจฮ่องกงได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2562 ที่หดตัว 2% นับเป็นการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส หลังจากไตรมาส 2 หดตัว 0.5% ขณะที่ทางการฮ่องกงคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปี 2562 จะหดตัว 1.3% การประท้วงในอินเดีย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะรุนแรงและขยายวงกว้างไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ต้องติดตามดูว่าการประท้วงจะยืดเยื้อและบั่นทอนเศรษฐกิจอินเดียมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจอินเดียชะลอความร้อนแรงลงมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับปี 2559 ที่เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวสูงกว่า 8% แต่ล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 2562 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเพียง 6% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี และเป็นการชะลอตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ลดลงไปจนถึงการชะลอตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้น หากการประท้วงยืดเยื้อก็จะยิ่งบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในระยะข้างหน้า การประท้วงในฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเผชิญการประท้วงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลืองที่เริ่มขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2561 ซึ่งในเวลานั้นการประท้วงได้ส่งผลกระทบราว 1% ของ GDP ฝรั่งเศสไตรมาส 4 ปี 2561 ล่าสุดสหภาพแรงงานหลายแห่งมีการนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในรอบหลายปี ส่งผลให้ระบบขนส่งมวลชนในประเทศหยุดให้บริการเกือบทั้งหมดในบางพื้นที่ ส่งผลกระทบในด้านลบต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะะธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม นับเป็นปัจจัยบั่นทอนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจฝรั่งเศส ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยในกรณีของฮ่องกงที่การประท้วงยืดเยื้อ แม้การส่งออกของไทยไปฮ่องกงในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวราว 6% แต่การหดตัวดังกล่าวเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปฮ่องกงราว 60% จะส่งต่อไปยังตลาดจีน อย่างไรก็ตาม ในด้านการดำเนินธุรกิจส่งออก การชุมนุมประท้วงเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ เนื่องจากการประท้วงในบางประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เช่น กรณีของเลบานอน ซึ่งการประท้วงทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องหยุดทำการ ทำให้ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปเลบานอนในช่วงเวลานั้นต้องประสบปัญหาการจ่ายเงินล่าช้า รวมถึงกรณีของฝรั่งเศสที่การประท้วงทำให้การคมนาคมในประเทศต้องหยุดชะงักลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

27.12.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview