บทความเกี่ยวกับประเทศเป้าหมาย Home บทความเกี่ยวกับประเทศเป้าหมาย เลือกประเทศเป้าหมาย ; Cambodia ; Ethiopia ; India ; Kenya ; Lao People's Democratic Republic ; Mozambique ; Myanmar ; Vietnam ; Tanzania United Republic of ; Africa search เจาะตลาดอาหารฮาลาล ท่ามกลางการระบาด COVID-19 ตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food) หรือตลาดอาหารสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งสามารถขยับจากการเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ไปเป็นตลาดหลัก (Mass Market) หรือตลาดที่มีผู้บริโภคเป้าหมายจำนวนมากและหลากหลายกลุ่มได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลก และกระแสบริโภคอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะเติบโตยิ่งขึ้นตามความต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และตรวจสอบแหล่งที่มาได้ จากผู้บริโภคทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม และในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลก ทั้งยังมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ทันสมัย ผู้ประกอบการสินค้าอาหารในไทยจึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว (อ่านรายละเอียดในเอกสารแนบ) 22.01.2021 2155 M&A โลก ... คาดจะกลับมาโตหลัง COVID-19 คลี่คลาย 11.08.2020 934 COVID-19 ในแอฟริกา .... ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจไม่รุนแรง แต่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด 13.07.2020 1069 บรรทัดฐานใหม่ของการท่องเที่ยวโลกหลัง COVID-19 18.05.2020 683 ธนาคารเพื่อการพัฒนา ... ฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจแอฟริกา ธนาคารเพื่อการพัฒนา ... ฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจแอฟริกา โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หนึ่งในสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากนัก นั่นคือ ธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือ Development Bank ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนามีตั้งแต่องค์กรระดับโลกไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งแต่ละองค์กรล้วนมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้วยการเป็นแหล่งเงินทุน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและความรู้เฉพาะทางต่างๆ อันจะเป็นฐานรากสำคัญสู่การพัฒนาประเทศต่อไป ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับโลกที่คุ้นเคยกันดีอย่างธนาคารโลก (World Bank) นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดย World Bank ให้ความช่วยเหลือนานาประเทศผ่านรูปแบบทางการเงิน อาทิ เงินให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงความช่วยเหลือทางเทคนิค เป็นต้น ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาคก็มีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพอีกแห่งหนึ่งของโลกที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและต้องการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก ADB จึงเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียมาโดยตลอด โดย ADB เป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนในเอเชียจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ในเอเชีย อาทิ เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) รวมถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย สปป.ลาว และเวียดนาม ขณะที่อีกฟากหนึ่งของโลกก็มีตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโตและอยู่ในช่วงของการเร่งพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับเอเชียเมื่อหลายปีก่อน นั่นคือ ทวีปแอฟริกา ซึ่งความต้องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคมีแนวโน้มขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะด้านพลังงาน ล่าสุดรายงานจาก African Economic Outlook 2018 ระบุว่าความต้องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Needs) ของทวีปแอฟริกามีมูลค่าสูงถึง 130,000-170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สะท้อนถึงความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาคยังมีอีกมาก อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในแอฟริกาไม่สามารถพัฒนาโครงการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนเงินลงทุน ส่งผลให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาของภูมิภาคแอฟริกาอย่าง African Development Bank Group (AfDB) และ Export-Import Bank of Africa (AFREXIM) ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนให้โครงการลงทุนต่างๆ ในแอฟริกาเกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม แหล่งเงินทุนจาก AFREXIM และ AfDB ที่จะสามารถรองรับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกามีไม่เพียงพอ ธนาคารทั้งสองแห่งจึงได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ อาทิ World Bank, ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ Export-Import Bank of China (China EXIM) เป็นต้น เพื่อร่วมกันสนับสนุนเงินทุนให้แก่โครงการลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคแอฟริกา ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเติมเต็มความต้องการทางการเงินเพื่อให้โครงการลงทุนสามารถเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นสะท้อนได้ว่า Development Bank หลายแห่งต่างเล็งเห็นศักยภาพของทวีปแอฟริกาว่าเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่ยังต้องการเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด ธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่าง Export-Import Bank of India ของอินเดียก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการปล่อยกู้ร่วม (Co-financing) กับ AfDB ในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะโครงการพลังงานและระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น โดยในปัจจุบัน Export-Import Bank of India มีสำนักงานผู้แทนอยู่ในหลายประเทศแล้ว ได้แก่ แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย และโกตดิวัวร์ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการสนับสนุนเพื่อทำการค้าระหว่างแอฟริกา-อินเดีย ธนาคารเพื่อการพัฒนาของแอฟริกานับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง อันเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศซึ่งจะช่วยเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของแอฟริกาเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวแอฟริกันให้สูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคที่จะเปิดกว้างอีกมากในระยะถัดไป 15.01.2020 1075 ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ... อีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยในทวีปแอฟริกา 03.01.2020 536 มองโอกาสการค้าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ : Case Study ทวีปแอฟริกา ความน่าสนใจของตลาดประเทศกำลังพัฒนามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว บวกกับความเสี่ยงอีกหลายด้านที่ยังแฝงตัวอยู่ และยากที่จะประเมินความเสียหายหากเกิดขึ้นจริง ทั้งสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งรวมกันสูงถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าการค้าโลก การแยกตัวจากการเป็นสมาชิก EU ของสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่มีการจัดตั้งสหภาพยุโรป ตลอดจนการเผชิญปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูงของหลายประเทศ ซึ่งทำให้เป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดประเทศเกิดใหม่ถูกจับตามองในฐานะทางเลือกที่จะมาช่วยชดเชยตลาดเดิม ซึ่งหนึ่งในตลาดนั้นคือทวีปแอฟริกา โดยมีจุดเด่นที่สำคัญ อาทิ- อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เพชร ทองคำ ทองแดง รวมถึงแร่โคบอลต์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ - เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันถึงราว 1,200 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรของจีนและอินเดีย อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรในทวีปแอฟริกาจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคนภายใน 20 ปีข้างหน้า ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจ (GDP) รวมของทวีปแอฟริกาในปี 2560 มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ อียิปต์ แอลจีเรีย และแองโกลา ตามลำดับ - ประชากรมีอายุเฉลี่ยต่ำ โดยราวครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 19 ปี ซึ่งหมายความว่า ในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า ทวีปแอฟริกาจะเต็มไปด้วยประชากรวัยทำงานซึ่งจะเป็นทั้งกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ต่างจากประเทศที่เป็นตลาดหลักในปัจจุบันที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society : มีประชากรอายุเกิน 60 ปีมากกว่าร้อยละ 20) อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศส่วนใหญ่ในแถบยุโรป ขณะที่จีนมีแนวโน้มจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในปี 2573 รวมถึงไทยที่คาดว่าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 เช่นกัน - ความเป็นเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะหนุนให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล มีการคาดการณ์ว่าทวีปแอฟริกาจะมีเมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 54 เมือง ในปี 2558 เป็น 89 เมือง ในปี 2573 และรายได้ต่อหัวของประชากรในเมืองใหญ่เหล่านี้จะสูงกว่า 2 เท่าของรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของทั้งทวีป เมืองใหญ่เหล่านี้จึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดธุรกิจมากมายให้เข้ามาลงทุน ภาพของทวีปแอฟริกาในฐานะแหล่งลงทุนที่โดดเด่นตอกย้ำจากผลการสำรวจความคิดเห็นของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำของโลก ในปี 2560 ที่ได้สอบถามผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกรวม 1,025 คน แบ่งเป็นผู้บริหารที่ทำงานในทวีปแอฟริกา 253 คน และที่ทำงานในภูมิภาคอื่นๆ อีก 772 คน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ในช่วง 20 ปีข้างหน้า GDP รวมของทวีปแอฟริกาจะมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ ยังมั่นใจว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า บริษัทของตนเองจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทวีปแอฟริกา ส่วนในแง่การลงทุนและการจ้างงานนั้น พบว่าบริษัทที่อยู่ในทวีปแอฟริกาอยู่แล้วมีความมั่นใจที่จะขยายการลงทุนในภูมิภาคนี้มากกว่าบริษัทที่อยู่ในภูมิภาคอื่นๆ แต่ก็น่าสังเกตว่า แม้แต่ผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในทวีปอื่นๆ ก็ยังมีเกือบครึ่งที่ตั้งใจจะขยายการลงทุนในทวีปแอฟริกาในช่วง 5 ปีข้างหน้า แม้ปัจจุบันทวีปแอฟริกามีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ถึงเกือบ 400 บริษัท ซึ่งมากกว่าที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าน่าจะมีบริษัทใหญ่ขนาดนี้ไม่ถึง 50 บริษัท แต่หากเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แล้ว ทวีปแอฟริกายังนับว่ามีจำนวนบริษัทขนาดใหญ่น้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ และโดยเฉลี่ยแล้วบริษัทขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกาก็ยังมีขนาดเล็กกว่าบริษัทใหญ่ในทวีปอื่นๆ สังเกตจากจำนวนบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่ติดอันดับ Forbes Global 2000 ในปี 2561 มีบริษัทจากทั้งทวีปแอฟริกาอยู่เพียง 18 บริษัท เทียบกับไทยที่มีอยู่ 16 บริษัท อย่างไรก็ตาม ทวีปแอฟริกามีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีต่อจากนี้ ที่มีการคาดการณ์กันว่าธุรกิจที่ลงทุนอยู่ในทวีปแอฟริกาและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม จะสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ด้วยอัตราขยายตัว 2 หลักต่อปี ด้วยแรงหนุนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง และเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปแสวงหาโอกาสจากการเติบโตของเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกา ผู้ที่สนใจจะขยายการส่งออกหรือเข้าไปลงทุนในทวีปแอฟริกา ควรเลือกส่งออกสินค้าหรือลงทุนในธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Unmet Demand) ของชาวแอฟริกัน เพราะจะเป็นธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม การนำข้อมูลของทวีปแอฟริกามาประเมินโอกาสการลงทุนก็มีข้อจำกัดไม่ต่างจากตลาดเกิดใหม่อื่นๆ อาทิ ข้อมูลสถิติที่จัดเก็บจากทางการอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงได้ทั้งหมด ผู้ประกอบการต้องศึกษาบริบทของประเทศที่ต้องการเข้าไปลงทุน หรืออาจต้องเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นตัวแทน (Proxy) มาประกอบการวิเคราะห์ อาทิ การใช้ปริมาณน้ำฝนในการทำนายผลผลิต ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มรายได้ของประชากรในประเทศเอธิโอเปีย เนื่องจากส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ยังทำอาชีพเพาะปลูกสำหรับตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในทวีปแอฟริกา อาทิ Jumia บริษัท e-Commerce รายใหญ่ของทวีปแอฟริกา ที่มีผู้ขายอยู่กว่า 4 แสนราย และได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะจากผู้บริโภคที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองและเริ่มมีกำลังซื้อ เนื่องจากพื้นที่นอกเขตเมืองยังมีร้านค้าปลีก (Retail Store) หรือห้างสรรพสินค้าไม่เพียงพอ และผู้บริโภคไม่มีเวลามากพอจะเข้ามาซื้อสินค้าเองในเมือง การสั่งสินค้าออนไลน์จากผู้ขายที่อยู่ในเมืองจึงเป็นทางเลือกที่ตรงใจผู้บริโภค M-Kopa บริษัทของเคนยาที่จำหน่ายระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กว่า 6 แสนครัวเรือนในชนบทที่ขาดแคลนไฟฟ้าในเคนยา แทนซาเนีย ยูกันดา กานา และโกตดิวัวร์ โดยให้ผู้บริโภคจ่ายเงินมัดจำเพียงเล็กน้อย เพื่อรับชุดผลิตไฟฟ้าไปติดตั้งที่บ้าน ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับหลอดไฟและไฟฉาย วิทยุแบบชาร์จแบต รวมทั้งใช้ชาร์จแบตโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากนั้นผู้บริโภคจะผ่อนจ่ายค่าชุดผลิตไฟฟ้านี้ทุกวันผ่านระบบ Mobile Payment จนครบ 1 ปี ผู้บริโภคก็จะเป็นเจ้าของชุดผลิตไฟฟ้านี้โดยสมบูรณ์ และสามารถเริ่มผ่อนจ่ายเพื่อเปลี่ยนเป็นระบบที่ดีขึ้นหรือซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมได้นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเลือกส่งออกหรือลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดใหญ่เป็นจุดหมายแรก เพราะจะเอื้อให้กิจการขยายตัวได้ง่ายกว่าตลาดที่มีขนาดเล็ก แต่ก็ควรคำนึงถึงการกระจายรายได้ของประชากรในประเทศนั้นๆ ด้วย ว่าเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของท่านหรือไม่ เพราะมีบางประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีระดับรายได้ต่ำ เพราะรายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นกระจุกอยู่ที่คนเพียงไม่กี่กลุ่ม ซึ่งตลาดลักษณะนี้อาจเหมาะกับสินค้าที่วางตัวเองเป็นสินค้าระดับสูง ราคาแพง แต่ไม่เหมาะกับสินค้าที่ผลิตมาเพื่อผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลาง ส่วนในระยะยาว เมื่อกิจการของท่านสามารถลงหลักปักฐานได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว ก็อาจพิจารณาขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นต่อไป เพราะยังมีโอกาสอีกมากมายในตลาดแอฟริกา 06.10.2019 2544 ส่องตลาดข้าวแอฟริกา : ไนจีเรีย เบนิน และเซเนกัล รายละเอียดตามเอกสารแนบ 25.07.2018 557 link อื่นๆ more Financial Products more ดู Links ทั้งหมด