Hot Issues

คลื่นการชุมนุมประท้วง...เขย่าเศรษฐกิจของหลายประเทศ

ประเด็นสำคัญ

  • ปี 2562 เป็นปีแห่งการประท้วงทั่วโลก หลังจากประชาชนในหลายประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก
  • การประท้วงที่เกิดขึ้นครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคตั้งแต่เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา นับเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทั่วโลก โดยชนวนการประท้วงในหลายประเทศส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันใน 3 ประเด็น คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง/ปัญหาคอร์รัปชัน และการต่อต้านกฎหมาย/การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ
  • ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่เกิดการประท้วงจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการประท้วงไปจนถึงการขยายวงกว้างและความรุนแรงของการประท้วงเป็นสำคัญ โดยมีบางประเทศที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และฝรั่งเศส
  • การประท้วงส่วนใหญ่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของธุรกิจส่งออกในบางประเทศ
  • ปี 2562 ที่กำลังจะผ่านไปถือเป็นปีที่โลกตกอยู่ในความวุ่นวายหลังจากประชาชนในหลายประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเด็นที่แตกต่างกันไป นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งคล้ายคลึงกับการเกิดการปฏิวัติอาหรับ หรือ Arab Spring ในภูมิภาคตะวันออกกลางช่วงปี 2553-2554 แต่คลื่นการประท้วงรอบนี้เกิดขึ้นในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่กว้างกว่า ครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคตั้งแต่เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา ถือเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทั่วโลกและเป็นความเสี่ยงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

 

ปักหมุดพื้นที่ประท้วงทั่วโลก

 

สาเหตุของการประท้วงในหลายประเทศ

แม้ว่าสาเหตุและเป้าหมายที่ประชาชนในแต่ละประเทศออกมาชุมนุมประท้วงจะแตกต่างกัน แต่ประเด็นปัญหาส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันใน 3 ประเด็น ดังนี้

  • ปัญหาเศรษฐกิจ การชุมนุมประท้วงในหลายประเทศเริ่มขึ้นจากความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่ค่าครองชีพในประเทศปรับสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางและรถไฟใต้ดินในชิลี การเก็บภาษีคนใช้แอปพลิเคชัน WhatsApp ในเลบานอน และการปรับขึ้นราคาน้ำมันในอิหร่านและเอกวาดอร์ รวมถึงการประท้วงเพื่อร้องเรียนปัญหาค่าครองชีพและความเหลื่อมล้ำในโคลอมเบียและโบลิเวีย ซึ่งการชุมนุมในประเทศเหล่านี้ได้ลุกลามจนจุดติดเป็นประเด็นเรียกร้องทางการเมืองที่ยากจะควบคุม
  • ปัญหาทางการเมือง/ปัญหาคอร์รัปชัน ในหลายประเทศมีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลาออกจากตำแหน่ง เช่น กรณีการสืบทอดอำนาจเป็นเวลานานถึง 20 ปีของประธานาธิบดีในแอลจีเรีย กรณีการทุจริตและคอร์รัปชันของภาครัฐในสาธารณรัฐเช็กและอิรัก ซึ่งการประท้วงในประเทศเหล่านี้ได้ลุกลามบานปลายจนเป็นเหตุรุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  • การต่อต้านกฎหมาย/การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ได้แก่ การประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง ซึ่งลุกลามและทวีความรุนแรงจนกลายเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและกดดันให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง การประท้วงต่อต้านกฎหมายปราบปรามทุจริตในอินโดนีเซีย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการลดอำนาจของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตของอินโดนีเซีย การประท้วงต่อต้านแผนการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญในฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เป็นอัมพาตอยู่ในขณะนี้ และล่าสุดการประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติพลเมืองฉบับใหม่ในอินเดีย ที่ยอมให้สัญชาติอินเดียแก่ผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ ปากีสถาน บังกลาเทศ และอัฟกานิสถาน แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้เฉพาะผู้อพยพที่นับถือศาสนาฮินดู ซิกข์ พุทธ เชน ปาร์ซี และคริสต์เท่านั้น โดยยกเว้นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นธรรมกับชาวมุสลิมในอินเดีย รวมถึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมที่มาจาก 3 ประเทศดังกล่าว จึงเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล

     

  • ความคิดเห็นของฝ่ายวิจัยธุรกิจ

    • ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่เกิดการประท้วง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการประท้วงไปจนถึงการขยายวงกว้างและความรุนแรงของการประท้วงเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันการประท้วงในหลายประเทศยังอยู่ในวงจำกัดและยังไม่มีทีท่าว่าจะยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่ต้องจับตามอง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการประท้วงอาจบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว ได้แก่
    • การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งยืดเยื้อยาวนานกว่า 6 เดือน ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายในประเทศ การค้า การลงทุน รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคการเงิน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฮ่องกง ทำให้ล่าสุดเศรษฐกิจฮ่องกงได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2562 ที่หดตัว 2% นับเป็นการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส หลังจากไตรมาส 2 หดตัว 0.5% ขณะที่ทางการฮ่องกงคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปี 2562 จะหดตัว 1.3%
    • การประท้วงในอินเดีย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะรุนแรงและขยายวงกว้างไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ต้องติดตามดูว่าการประท้วงจะยืดเยื้อและบั่นทอนเศรษฐกิจอินเดียมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจอินเดียชะลอความร้อนแรงลงมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับปี 2559 ที่เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวสูงกว่า 8% แต่ล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 2562 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเพียง 6% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี และเป็นการชะลอตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ลดลงไปจนถึงการชะลอตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้น หากการประท้วงยืดเยื้อก็จะยิ่งบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในระยะข้างหน้า
    • การประท้วงในฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเผชิญการประท้วงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลืองที่เริ่มขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2561 ซึ่งในเวลานั้นการประท้วงได้ส่งผลกระทบราว 1% ของ GDP ฝรั่งเศสไตรมาส 4 ปี 2561 ล่าสุดสหภาพแรงงานหลายแห่งมีการนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในรอบหลายปี ส่งผลให้ระบบขนส่งมวลชนในประเทศหยุดให้บริการเกือบทั้งหมดในบางพื้นที่ ส่งผลกระทบในด้านลบต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะะธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม นับเป็นปัจจัยบั่นทอนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจฝรั่งเศส
    • ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยในกรณีของฮ่องกงที่การประท้วงยืดเยื้อ แม้การส่งออกของไทยไปฮ่องกงในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวราว 6% แต่การหดตัวดังกล่าวเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปฮ่องกงราว 60% จะส่งต่อไปยังตลาดจีน อย่างไรก็ตาม ในด้านการดำเนินธุรกิจส่งออก การชุมนุมประท้วงเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ เนื่องจากการประท้วงในบางประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เช่น กรณีของเลบานอน ซึ่งการประท้วงทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องหยุดทำการ ทำให้ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปเลบานอนในช่วงเวลานั้นต้องประสบปัญหาการจ่ายเงินล่าช้า รวมถึงกรณีของฝรั่งเศสที่การประท้วงทำให้การคมนาคมในประเทศต้องหยุดชะงักลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview