ข่าวเศรษฐกิจ

สศอ. เผยผลการศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจากเงินบาทอ่อนค่า

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาผลกระทบเงินบาทอ่อนค่าต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย พบว่า เงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบัน (ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2565 ที่ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลปัจจัยการผลิตและผลผลิตสามารถแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกมาก ได้แก่ ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เม็ดพลาสติก ยางแผ่น ยางแท่ง ยางนอกและยางใน น้ำตาลทราย และ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ไมโครเวฟ เตารีด และพัดลม)
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบมากและมีสัดส่วนการส่งออกมาก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องสำอาง
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกน้อย จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ได้แก่ ยานยนต์ จักรยานยนต์ ยาสูบ เครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงาน (เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และคอมพิวเตอร์) ทอผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้ามากและสัดส่วนการส่งออกน้อย จึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากกว่าประโยชน์จากรายรับจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น ยารักษาโรค น้ำมันดิบ และน้ำมันสัตว์ สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ควรมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เช่น การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) การประกันค่าเงิน (Option) การซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) เป็นต้น รวมถึงควรมีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หาแหล่งทดแทนการนำเข้าพลังงานและการใช้วัตถุดิบอื่นที่เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบหลัก 

(กรุงเทพธุรกิจ, 14 มิ.ย. 2565)

link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview