ข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จ.จันทบุรี คาดว่ารายได้จากการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จ.จันทบุรีในปี 2566 มีแนวโน้มอยู่ที่ราว 25,000-30,000 ล้านบาท หรือฟื้นตัวราว 70% เทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ระบาด เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่อนคลายลงทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงจึงเพิ่มขึ้น อีกทั้งอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าทั้งระดับล่าง กลาง และระดับบนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คู่ค้าพลอยเดิม อาทิ อินเดีย EU ตะวันออกกลาง ฮ่องกง และจีน ปรับนโยบายควบคุม COVID-19 กลับสู่ปกติ ประกอบกับไทยเปิดประเทศและจัดงานส่งเสริมการจำหน่าย อาทิ Thailand Gems & Jewelry Fair 2023 บรรยากาศการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจึงเป็นไปอย่างคึกคักทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตลาดค้าพลอย จ.จันทบุรี เผชิญภาวะขาดแคลนพลอยก้อน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ต้องนำเข้าจากแอฟริกาตะวันตก เช่น โมซัมบิก ไนจีเรีย มาดากัสการ์ และเคนยา โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทย 80% ต้องประมูลพลอยก้อนที่สิงคโปร์ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง สมาคมฯ จึงเสนอว่าภาครัฐและเอกชนควรแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการส่งเสริมการนำพลอยก้อนมาเปิดประมูลที่ จ.จันทบุรี
สำหรับงานอัญมณีที่จัดที่ฮ่องกง (Hong Kong Jewelry & Gems Fair) เมื่อเดือน ก.พ. 2566 พบว่าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้รับการตอบรับดีมาก โดยเฉพาะพลอย ซึ่งมีราคาสูงต่อเนื่อง รวมถึงมีการต่อรองราคาน้อยมาก เนื่องจากมีความต้องการสูงจากที่สะสมไว้ตั้งแต่ช่วง COVID-19 ระบาด อีกทั้งการที่มีวัตถุดิบพลอยลดลง โดยเฉพาะพลอยทับทิม และพลอยน้ำเงินที่อินเดียมีความต้องการสูง ทำให้ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการแม้ไทยจะเริ่มนำเข้าพลอยก้อนก็ตาม (prachachat.net, 20 เม.ย. 2566)