ข่าวเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากโครงการฯ ล่าช้า โดยให้ศึกษาว่าหากรายเดิมที่ได้รับสัมปทานไปแล้วไม่สามารถนำแร่โพแทชขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ จะมีวิธีการใดเพื่อให้ผู้เล่นใหม่ที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นผู้พัฒนาแหล่งแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้หรือไม่ ทั้งนี้ แร่โพแทชเป็นหนึ่งใน 3 แร่สำคัญที่ใช้เป็นแม่ปุ๋ย
ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ไทยมีสำรองแร่โพแทชถึง 4 แสนล้านตัน สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี ตามลำดับ โดยพื้นที่ประเทศไทยสามารถพบแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ได้ 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร (สกลนคร หนองคาย อุดรธานี และนครพนม) และแอ่งโคราช (ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ) ที่ผ่านมามีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทช ซึ่งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแล้ว เช่น บริษัท เหมืองแร่โพแทช อาเซียน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด แต่ยังติดปัญหาไม่สามารถระดมทุนเพื่อประกอบกิจการได้ตามแผน ขณะที่บริษัท เอเชียแปซิฟิค โพแทช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยังอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจ และนับเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในจำนวนคำขอทั้งหมด แต่ถูกร้องเรียนคัดค้านการขอประทานบัตรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการทรุดตัวของผิวดินจากการทำเหมือง ปัญหาดินเค็มน้ำเค็มฝุ่นเกลือและกองเกลือบนผิวดิน (www.bangkokbiznews.com, 8 พ.ย. 2566)