ข่าวเศรษฐกิจ
ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้สำนักงาน กกพ.นำค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) ประมาณการสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 10-24 พ.ย. 2566 โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นค่า Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 หน่วยละ 64.18 สตางค์ และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเป็นหน่วยละ 216.42 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่หน่วยละ 3.78 บาท ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 5.95 บาท
กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นค่า Ft ขายปลีกที่สะท้อนต้นทุน และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละ 31,926 ล้านบาท รวมเป็นหน่วยละ 114.93 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 4.93 บาท
กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นค่า Ft ขายปลีกที่สะท้อนต้นทุน และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเป็นหน่วยละ 89.55 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 4.68 บาท
ทั้งนี้ ผลการประมาณค่า Ft ทั้ง 3 กรณีข้างต้นเป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังผลิตไม่ได้ตามเป้า จึงต้องนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซในอ่าวไทยบางส่วน นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้น ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคา LNG มีความผันผวนสูง จึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 และ ม.ค.-เม.ย. 2567 จะเปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการ (www.prachachat.net, 11 พ.ย. 2566)