ข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยคาดการณ์เบื้องต้นว่า เหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคใต้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะทำให้พื้นที่เพาะปลูกยางพาราเสียหายหลักแสนไร่ นอกจากนี้ คาดว่าผลผลิตยางพาราโลกในปี 2567 จะลดลง 30-40% เนื่องจากต้นยางพาราทั้งในไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นโรคใบยางร่วง ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบในลำดับต่อไป ขณะเดียวกันผู้ส่งออกยางพาราที่รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ราคาต่ำ ก็เสี่ยงจะขาดทุนจากราคายางพาราในปัจจุบันที่ปรับสูงขึ้นและเสี่ยงจะหายางพาราส่งมอบได้ยาก
ทั้งนี้ สมาคมฯ มองว่าอุตสาหกรรมยางพาราไทยกำลังประสบปัญหา โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี เพราะราคาที่ขายได้ต่ำกว่าต้นทุนมาก (ต้นทุนที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเคยคำนวณไว้เมื่อ 10 ปีก่อน เฉลี่ย กก.ละ 63.64 บาท แต่ปีที่เกิด COVID-19 ยางพาราราคา กก.ละไม่ถึง 50 บาท ปัจจุบันปรับขึ้นมาเป็น 53 บาท ก็ยังไม่มีกำไร) อีกทั้งยังมีปัญหาจากภาษีที่ดิน ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยออกประกาศให้สวนยางที่มีการปลูกน้อยกว่าไร่ละ 80 ต้น จะต้องเสียภาษีในอัตรา 1.20% ของราคาที่ดิน (หากปลูก 80 ต้นขึ้นไปจะเสียภาษี 0.15% ของราคาที่ดิน) ซึ่งจะเริ่มเก็บในเดือน มี.ค. 2567 ซึ่งจะทำให้เกษตรกรต้องเสียภาษีสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญคือพันธุ์ยาง ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังจัดยางพาราพันธุ์ RRIM 600 เป็นยางชั้น 1 ทั้งที่พันธุ์ดังกล่าวปลูกในไทยมา 50 ปี จนให้ผลผลิตน้ำยางต่ำลงมาก เหลือ 240 กก./ไร่/ปี ขณะที่คู่แข่งทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และ สปป.ลาว ต่างเปลี่ยนไปใช้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า (ประชาชาติธุรกิจ, 8-10 ม.ค. 2567)