ข่าวเศรษฐกิจ
กรมธุรกิจพลังงานเปิดเผย (ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) ว่าในแผนดังกล่าวประเมินทิศทางความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโลกว่าจะมีแนวโน้มลดลงในระยะไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงสุด (Oil Peak Demand) ของประเทศเกิดขึ้นไม่เกินปี 2573 (ค.ศ. 2030) ที่ราววันละ 148 ล้านลิตร ทำให้เมื่อถึงปี 2573 ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตส่วนเกินวันละ 69 ล้านลิตร อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลัก แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2608 อีกทั้งเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มาแรง จะส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันในภาคขนส่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
การบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้ร่างแผน Oil Plan 2024 จึงกำหนดแนวทางดำเนินการ อาทิ ปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลให้ B7 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน และ B20 ให้เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือก กำหนดให้แก๊สโซฮอล์ 95 หรือแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ และจะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ภายในปี 2568 โดยจะส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) แทน และจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Hydroprocessed Esters and Fatty Acids (HEFA) ผสมในน้ำมันเครื่องบินสัดส่วน 1% ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และเพิ่มเป็น 2% ในปี 2571 และหลังจากนั้น ปี 2573 จะได้ SAF จากเทคโนโลยี Alcohol to Jet (AtJ) ที่ผลิตจากเอทานอลมาเสริม ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนการผสม SAF เพิ่มขึ้นเป็น 3 % ก่อนจะเพิ่มเป็น 8% ในปี 2579 เป็นต้นไป ส่วนภาคขนส่งทางน้ำ จะส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อาทิ น้ำมันเตากำมะถันต่ำที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (B24 VLSFO) โดยผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีแผนจะเริ่มจำหน่าย Bio-VLSFO ในสัดส่วน 24 % (B24) ให้แก่เรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายในปี 2568 เป็นต้นไป (ฐานเศรษฐกิจ, 14-17 ก.ค. 2567)