บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

ระบบอัตโนมัติ (AUTOMATION) ... ทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ประสบปัญหาเกี่ยวกับแรงงานคล้ายๆ กัน คือ ขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุก็มาจากหลายปัจจัย ทั้งจากการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่ทำให้คนวัยทำงานมีจำนวนลดลง ขณะเดียวกันการที่เกือบทุกธุรกิจตกอยู่ในภาวะแรงงานตึงตัวหรือมีตำแหน่งงานว่างอยู่มากกว่าจำนวนแรงงานที่หางานอยู่ จึงทำให้แรงงานในบางสาขามีโอกาสเลือกงานทำได้มากขึ้น ดังนั้น งานที่ต้องใช้แรงงานหนัก งานที่ต้องเสี่ยงอันตรายอย่างงานบนที่สูงหรืองานที่ต้องสัมผัสสารเคมีอันตราย รวมทั้งงานที่ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์อย่างงานในโรงงานที่มีกลิ่นรุนแรง จึงยิ่งหาคนมาทำงานได้ยากขึ้นเพราะเป็นงานที่แรงงานส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ทำ

ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยบางส่วนจึงเลือกย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีแรงงานจำนวนมากและค่าจ้างแรงงานยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังคงเลือกตั้งฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็หันมาพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแทน หากท่านลองสังเกตดูจะพบว่าโรงงานหลายแห่งของไทยจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากหรือแทบจะทั้งหมดจนป้ายประกาศต่างๆ ในโรงงานต้องติดเป็นภาษากัมพูชาหรือภาษาเมียนมากันเลยทีเดียวครับ ประเด็นที่ผมอยากชวนให้ช่วยกันลองคิดต่อก็คือ ธุรกิจของไทยจะเติบโตโดยการพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลักแบบนี้ไปตลอดได้หรือไม่ การที่ทุกวันนี้เรายังมีแรงงานจากต่างชาติยินดีเข้ามาทำงานในประเทศไทยอยู่เรื่อยๆ เป็นเพราะว่ายังมีตำแหน่งงานว่าง อีกทั้งค่าตอบแทนก็สูงกว่าการทำงานที่บ้านเกิดของแรงงานต่างชาติค่อนข้างมาก แต่อย่างที่เราก็ทราบกันดีอยู่ว่าเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านของเราก็พัฒนาขึ้นทุกวัน มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น และคาดว่าอีกไม่นานก็จะมีตำแหน่งงานจำนวนมากว่างรอให้ผู้ที่เข้ามาทำงานในไทยย้ายกลับไป แล้วหากวันนั้นมาถึง แรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่กับท่านเดินมาบอกว่าขอกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ท่านจะทำอย่างไร มีแผนเตรียมรับมือกับเรื่องดังกล่าวแล้วหรือไม่ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าหากท่านยังคงทำธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นหลักโดยไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็ไม่ต่างอะไรกับการนั่งอยู่บนระเบิดเวลา

ถึง ณ ตอนนี้ต้องถามว่าท่านพร้อมจะโยนระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลังอย่างช้าๆ ออกจากมือท่านแล้วหรือยังครับ ทางออกทางหนึ่งที่พูดถึงกันมากในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน คือ การนำระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาทดแทนแรงงาน ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามส่งเสริมเรื่องนี้อยู่เช่นกัน สังเกตจากการที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นอุตสาหกรรมเดียวใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริมแก่ผู้ใช้งาน (User) ด้วย เพราะมองว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการที่นำไปใช้ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด

ผมเคยได้ฟังประสบการณ์จากผู้ผลิตรายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในโรงงานขึ้นรูปพลาสติก ที่ปกติจะนำพลาสติกมารีดเป็นเส้นแล้วฉีดออกมาเป็นท่อพลาสติก ซึ่งในตอนแรกโรงงานแห่งนี้ก็ไม่คิดจะติดตั้งระบบอัตโนมัติเหมือนกันครับ เพราะยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ต้องลงทุนเยอะ และเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ในตอนนั้นก็ยังไม่มีใครทำเรื่องนี้เป็นด้วย แต่เนื่องจากโรงงานแห่งนี้มีการขยายกำลังการผลิตทุกปี จึงต้องซื้อเครื่องฉีดพลาสติกเพิ่มขึ้นและต้องรับแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย เพราะต้องมีเจ้าหน้าที่มาประจำอยู่ที่เครื่องฉีดพลาสติกแต่ละเครื่องเพื่อตัดชิ้นงานที่ฉีดออกมา และนำชิ้นงานไปเช็คขนาดก่อนจะนำไปบรรจุลงกล่อง ทั้งนี้ จุดพลิกผันเกิดขึ้นในปี 2556 เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ทำให้โรงงานแห่งนี้ต้องมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อหัวเพิ่มขึ้นจากราววันละ 230 บาท เป็นวันละ 300 บาททันที หนำซ้ำยังเป็นช่วงที่หาแรงงานมาเพิ่มไม่ได้ด้วย สถานการณ์ในตอนนั้นบีบบังคับให้โรงงานแห่งนี้ต้องติดตั้งระบบอัตโนมัติมาทำหน้าที่แกะท่อพลาสติกออกจากเครื่องฉีด นำไปเช็คขนาด แล้วนำไปบรรจุกล่อง ก่อนจะขนย้ายด้วยสายพานเพื่อไปผ่านเครื่องปิดผนึกกล่องอัตโนมัติ ส่วนผลที่ได้ก็เกินคาดมากครับ เพราะหลังจากนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ก็ทำให้โรงงานแห่งนี้เพิ่มจำนวนเครื่องฉีดพลาสติกได้อีกจำนวนมากโดยไม่ต้องเพิ่มแรงงานเลย และยังคืนทุนได้ภายใน 5 ปีอีกด้วย

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ธุรกิจยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก ผมไม่อยากให้ท่านคิดถึงการใช้หุ่นยนต์หรือแขนกลที่ซับซ้อนมากๆ หรือการปรับเปลี่ยนสายการผลิตทั้งหมดให้เป็นระบบอัตโนมัติ แต่ขอให้ท่านลองจินตนาการถึงการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาแก้ปัญหาหรือมาช่วยให้ท่านทำงานในบางจุดให้ดีขึ้นก่อนจะค่อยๆ ทยอยไปที่จุดอื่น โดยท่านอาจจะพิจารณาดูขั้นตอนการผลิตสินค้าของท่านว่าขั้นตอนใดที่เป็นการทำซ้ำๆ และใช้คนเยอะ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะตัว ก็อาจจะเริ่มนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาใช้ในจุดนั้นก่อน อย่างเช่นในขั้นตอนการขนย้ายสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จากปกติที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการขนย้าย ท่านอาจจะนำสายพานเข้ามาช่วยในการขนย้ายแทน เพียงแค่นี้ก็ช่วยให้ท่านเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือลดการใช้แรงงานได้บางส่วนแล้วครับ

ผมเชื่อเสมอว่ากิจการจะเติบโตแข็งแรงได้หากท่านผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสในข้อจำกัด แม้การเริ่มต้นทำอะไรใหม่อาจจะดูยากในครั้งแรก แต่หากเรามีการวางแผนและเตรียมตัวดี ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ และเริ่มจากจุดเล็กๆ ให้มั่นใจแล้วค่อยขยับขยายเราก็จะทำจนสำเร็จได้ครับ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในกิจการของท่าน และต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ก็สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (Center of Robotic Excellence : CORE) สถาบันไทย-เยอรมัน (Thai-German Institute : TGI) และสมาคมเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association : TARA) และหากท่านต้องการเงินทุนสำหรับติดตั้งระบบอัตโนมัติในช่วงนี้ EXIM BANK ก็มีสินเชื่อ Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2 ที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสที่จะก้าวต่อและต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview