บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

The Road to Net Zero … กับทางที่ยากลำบากขึ้นในยุค Trump 2.0

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้ทำสถิติสูงที่สุดคือเพิ่มขึ้นจนทะลุระดับ 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมไปแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หลายพื้นที่เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและสภาพอากาศที่แปรปรวนถี่ขึ้นจนสร้างความเสียหายจำนวนมาก ล่าสุดสหรัฐฯ ก็ต้องเผชิญกับไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ขยายตัวเป็นวงกว้างและสร้างความเสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยเบื้องต้นมีการประเมินมูลค่าความเสียหายไว้ไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของไฟป่าในครั้งนี้ก็เกิดจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนานหลายทศวรรษ โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตภัยแล้งครั้งใหญ่ (Megadrought) ที่ครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2543 ทั้งนี้ นักวิจัยด้านสภาพอากาศระบุว่าภัยแล้งนี้อาจรุนแรงที่สุดในรอบอย่างน้อย 1,200 ปี ความสูญเสียเหล่านี้เองที่เป็นตัวตอกย้ำว่าทุกภาคส่วนในโลกต้องเร่งแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ทั่วโลกกำลังลดความเร็วในการปล่อยคาร์บอนลง


The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งหมดของโลกจะเพิ่มขึ้น 0.97% ในปี 2568 ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2567 ที่เพิ่มขึ้น 1% โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยุโรปที่ลดลงและของจีนที่ชะลอลง จะถูกหักล้างด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจากประเทศในทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง โดยคาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยจะเพิ่มขึ้น 1.26% ส่วนประเทศที่คาดว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 6.03% คืออินเดีย โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันอินเดียผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเกือบครึ่งหนึ่งของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) และยอดจำหน่ายรถยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย S&P Global Mobility คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์นั่งในอินเดียจะขยายตัว 3.7% ในปี 2568 ขณะที่รถยนต์ที่จำหน่ายในอินเดียส่วนใหญ่ยังไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้า (EV)


อย่างไรก็ตาม การที่จีนยังเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุดถึงกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของโลก ทำให้จีนยังเป็นประเทศหลักที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางของการปล่อยคาร์บอนโดยรวมของโลก กล่าวคือความเร็วในการเข้าสู่ Net Zero ของโลก จะขึ้นอยู่กับความเร็วในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของจีน ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 จีนเพิ่งผ่านกฎหมายพลังงานฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2568 โดยให้คำมั่นว่าจีนจะเข้าสู่จุดที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุดภายในปี ค.ศ. 2030 (ปี 2573) หลังจากนั้นจะลดการปล่อยคาร์บอนลงโดยหันไปใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นแทนถ่านหิน (ปัจจุบันจีนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินราว 60% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) และจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2060 (ปี 2603)

การกลับมาของทรัมป์ ... อุปสรรคขัดขวางการบรรลุเป้า Net Zero


ในขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อยู่นั้น การเดินหน้าสู่เส้นทางสีเขียวของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน กลับเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนและมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องลวงโลก ได้ชนะการเลือกตั้งและกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากมองว่าไม่ยุติธรรมที่สหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายให้เงินสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น และปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดกลับไม่ต้องแบกรับภาระดังกล่าว

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าการถอนตัวจากความตกลงปารีสของสหรัฐฯ อาจเป็นตัวจุดชนวนให้ประเทศอื่นๆ ขอถอนตัวตาม เช่นเดียวกับที่บราซิลเคยขอถอนตัวหลังจากสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวในสมัยแรกที่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยประเทศที่มีความเป็นไปได้ที่จะถอนตัวออกจากความตกลงปารีส อาทิ อาร์เจนตินา ซึ่งประธานาธิบดีไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนและเห็นว่าเรื่องโลกร้อนเป็น “คำโกหกของพวกโซเชียลลิสต์” เช่นเดียวกับทรัมป์ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญ ก็มีโอกาสจะถอนตัวหากไม่มีสหรัฐฯ อยู่ภายใต้ข้อตกลง สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การสนับสนุนทางการเงินของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund : GCF) หยุดชะงัก ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาขาดการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งจะทำให้ความคืบหน้าในการปรับตัวต่อสภาพอากาศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกล่าช้าลง

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานระดับชาติ เพื่อลดราคาพลังงานในสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายลดราคาน้ำมันเบนซินและค่าไฟฟ้าลงครึ่งหนึ่งภายในปีแรก ด้วยการอนุมัติการขุดเจาะน้ำมัน วางท่อส่งน้ำมัน สร้างโรงกลั่นและโรงไฟฟ้าใหม่ ตามนโยบาย "Drill, baby, drill" รวมถึงยกเลิกนโยบายด้านพลังงานของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทั้งที่เกี่ยวกับการส่งออกก๊าซธรรมชาติ การขุดเจาะน้ำมัน มาตรฐานด้านมลพิษ ตลอดจนการยกเลิกการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนต่างๆ โดยทรัมป์ได้สั่งระงับการให้เช่าพื้นที่ตั้งโครงการพลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่งเป็นการชั่วคราวสำหรับโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งให้ทบทวนแนวทางการให้เช่าและการอนุญาตของรัฐบาลกลางสำหรับโครงการพลังงานลม ซึ่งคำสั่งนี้สอดคล้องกับที่ทรัมป์เคยแสดงจุดยืนมาตลอดว่าไม่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน

นอกเหนือจากด้านพลังงานแล้ว EV ก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยทรัมป์ได้เพิกถอนคำสั่งบริหารในปี 2564 ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ตั้งเป้าให้รถยนต์ใหม่จำนวน 50% จากทั้งหมดที่จำหน่ายในปี 2573 ต้องเป็น EV ขณะเดียวกันทรัมป์ยังมีแผนจะสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ทบทวนกฎเกณฑ์ที่กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง เช่น เกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องจำหน่าย EV จำนวน 30-56% ภายในปี 2575

เบื้องหลังการตัดสินใจของทรัมป์ และทางออกของผู้ประกอบการไทย


การที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกแสดงท่าทีเพิกเฉยในการร่วมมือกันต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แน่นอนว่าย่อมทำให้การปรับตัวเข้าสู่ Net Zero ของโลกช้าลง แต่ท่าทีเช่นนี้ของทรัมป์อาจไม่ใช่การปิดประตูตายในการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยสิ้นเชิง แต่เป็นความพยายามซื้อเวลาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และรักษาความสำคัญของสหรัฐฯ ไว้ ทั้งในฐานะที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก เพราะต้องอย่าลืมว่าปัจจุบันฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ต่างอยู่นอกสหรัฐฯ โดยทรัพยากรสำคัญอย่างแร่หายาก (Rare Earth) และเทคโนโลยีเกี่ยวกับแผงโซลาร์ แบตเตอรี่ และ EV ต่างก็อยู่ในจีน ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานลม รวมถึงความพยายามในการผลิตสินค้าที่เคยปล่อยมลพิษสูงอย่างเหล็กให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็เกิดขึ้นในยุโรป มีเพียงเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) ที่สหรัฐฯ ดูจะมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นๆ การพยายามดึงให้โลกยังพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นทางออกในการคงความสำคัญของสหรัฐฯ ไว้ 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรวางใจว่าหลังจากนี้สหรัฐฯ และทั้งโลกจะลดการให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม จนละเลยที่จะปรับตัวเพื่อลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตของตน เพราะปรากฏการณ์ “ธรรมชาติเอาคืน” ก็เกิดขึ้นบ่อยและทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะจนมนุษย์ไม่สามารถจะเพิกเฉยได้อีกต่อไป  อย่างไรเสียแนวโน้มของโลกก็ต้องมุ่งไปสู่ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ปรับตัวเพื่อเข้าสู่ Net Zero จึงอาจใช้จังหวะที่สหรัฐฯ ยังชะลอมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นเหมือนช่วงต่อเวลาพิเศษ เพื่อให้ท่านได้เร่งหาความรู้และปรับกระบวนการผลิตของท่านให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก่อนที่ธุรกิจของท่านจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
 
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview