บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

หนี้ทางเทคนิคและหนี้ด้านสิ่งแวดล้อม ... ชนวนเหตุที่ทำให้ธุรกิจติดบ่วง

ถ้าพูดถึง “หนี้” ผมคิดว่าท่านที่ทำธุรกิจคงคุ้นเคยและทราบดีว่าเมื่อมีหนี้ก็ย่อมมี “ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย” การเป็นหนี้แต่ละครั้งจึงต้องคิดอย่างรอบคอบแล้วว่า หนี้ก้อนนี้จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นคุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ มิเช่นนั้นหนี้ดังกล่าวอาจกลายเป็นภาระที่ดึงให้ธุรกิจจมลงสู่กองหนี้ แทนที่จะช่วยให้เติบโตเร็วขึ้นก็เป็นได้

แต่ท่านทราบหรือไม่ครับว่านอกจากหนี้ทางการเงิน (Financial Debt) ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีแล้ว การทำธุรกิจทุกวันนี้ยังมีหนี้อีก 2 ประเภท ซึ่งหากเราไม่ได้ตระหนักและปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้บริหารจัดการให้ดี ก็อาจกลายเป็นชนวนเหตุที่สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจของท่านได้เช่นกัน นั่นคือ

>>> หนี้ทางเทคนิค (Technical Debt) : แม้โดยปกติคำนี้จะอยู่ในแวดวงของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เป็นหลัก แต่เนื่องจากธุรกิจในปัจจุบันหนีไม่พ้นที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเข้าใจสาเหตุและผลกระทบของหนี้ทางเทคนิคจะช่วยให้ท่านหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจของท่านได้ครับ

คำว่า “หนี้ทางเทคนิค” เกิดจากการเลือกใช้เทคโนโลยีเก่าที่ด้อยกว่าเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แทนการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสมและสามารถใช้ต่อไปได้ในระยะยาว รวมถึงการซุกปัญหาทางเทคนิคบางอย่างไว้ใต้พรม เช่น การออกแบบระบบโดยไม่เข้าใจขั้นตอนการทำงานหรือไม่ได้คิดเผื่อการขยับขยายในอนาคต หรือเมื่อทีมมีเวลาไม่พอแต่ต้องรีบพัฒนาระบบให้ใช้งานได้ทันตามกำหนดไปก่อน จึงยังไม่ได้ทดสอบและแก้ไขข้อบกพร่องที่มี ซึ่งหากไม่รีบแบ่งเวลาและทรัพยากรมาแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไประบบก็จะยิ่งมีปัญหาบ่อยขึ้นและแก้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนธุรกิจอาจต้องเสียเวลาส่วนใหญ่และค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการตามแก้ปัญหาที่สะสมไว้ เหมือนหนี้ที่ยิ่งสะสมไว้มากเท่าไร ดอกเบี้ยก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งผลสำรวจผู้บริหารระดับสูงในสาย IT ของ DXC Technology ผู้ให้บริการเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก พบว่าหากสามารถลดปริมาณหนี้ทางเทคนิคได้ จะช่วยให้องค์กรต่างๆ ประหยัดต้นทุนลงได้ 39% และเลิกใช้แอปพลิเคชันที่ซ้ำซ้อนได้ 37%

>>> หนี้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Debt) : การทำธุรกิจที่เน้นสร้างผลกำไรสูงสุดโดยละเลยผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมจนทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรม เป็นเหมือนการกู้ความสมดุลของสิ่งแวดล้อมในอนาคตมาใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นความแปรปรวนของภูมิอากาศและมลพิษต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญร่วมกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 คลื่นความร้อน หรือภาวะฝนแล้ง-น้ำท่วม-พายุที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น ล่าสุดผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ระบุว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากความร้อน (Heat Stress) ของสิงคโปร์อาจพุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2561 สู่ระดับ 1.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2578 เนื่องจากผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) จะลดลงถึง 14% โดยเฉพาะแรงงานที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก เช่น ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หรือผู้ที่ต้องเผชิญกับแหล่งความร้อนอื่นๆ เช่น เครื่องจักร

สำหรับประเทศไทย มีตัวอย่างใกล้ตัวที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่มีฝนตกหนักใน จ.ชลบุรี จนโรงงานกว่า 200 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำที่ระบุว่า ในรอบ 10 ปีไทยจะเผชิญความเสี่ยงจากภัยแล้ง 6 ปี น้ำท่วม 2 ปี และมีปีปกติเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมจากความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญเหล่านี้ก็เหมือนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับหนี้ด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีความเสี่ยงสูงที่จะไปถึงจุดที่สายเกินแก้หากเรายังไม่หยุดทำลายสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งครับที่ท่านต้องพยายามลดหนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้ โดยเฉพาะหนี้ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันนอกจากจะต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วยความเสี่ยงที่ต้องเผชิญแล้ว ยังต้องจ่าย “ค่าปรับ” สำหรับการก่อหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการ CBAM ของ EU มาตรการ CCA ที่สหรัฐฯ กำลังจะใช้ รวมถึงภาษีคาร์บอนของหลายประเทศ หากสามารถลดหรืองดการก่อหนี้ได้ ก็จะลดรายจ่ายในส่วนที่เป็นค่าปรับได้ด้วยครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview