Advisory Notes

สัญญาณความเสี่ยงในภาคธนาคารของอินเดีย

ปัญหาในภาคธนาคารของอินเดียกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India : RBI) เข้าควบคุมการดำเนินงานของ Yes Bank ธนาคารเอกชนรายใหญ่อันดับ 4 ของอินเดีย (วัดจากมูลค่าสินทรัพย์) โดยธนาคารกลางอินเดียได้ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ (Moratorium) เป็นเวลา 1 เดือน และจำกัดการถอนเงินฝากของลูกค้าที่รายละ 50,000 รูปี (ราว 682 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน หลังจาก Yes Bank ประสบความล้มเหลวในการระดมทุนครั้งล่าสุด ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องและหนี้เสียของธนาคารที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ การเข้าแทรกแซงของธนาคารกลางอินเดียแสดงให้เห็นว่าปัญหาในภาคธนาคารของอินเดีย ซึ่งมีต้นตอจากวิกฤตในภาคธนาคารเงา (Shadow Banking) เมื่อปี 2561 ยังไม่สิ้นสุด และก่อให้เกิดความกังวลว่าธนาคารพาณิชย์ที่อ่อนแอและมีปัญหาทางการเงินอาจต้องเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกับกรณีของ Yes Bank

 

Yes Bank เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ย้ำให้เห็นว่าปัญหาในภาคธนาคารของอินเดียยังคงอยู่

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Yes Bank (รายละเอียดในหน้าถัดไป) สะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของภาคธนาคารในอินเดียที่มีปัญหาในช่วงปี 2561-2562 ดังนี้

  • ความเปราะบางของธนาคารเงาส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารอินเดีย บริษัทการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank Finance Companies : NBFCs) หรือธนาคารเงา เริ่มมีบทบาทในอินเดียตั้งแต่ช่วงหลังปี 2543 และทวีความสำคัญขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวสูงและมีความต้องการสินเชื่อจากธุรกิจขนาดเล็กและลูกค้ารายย่อย โดยธนาคารเงาดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎระเบียบและกติกาเดียวกัน ทำให้ธนาคารเงาขยายบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นฟองสบู่ในภาคการเงิน และนำไปสู่วิกฤตปี 2561 สำหรับปัจจุบันอินเดียมีธนาคารเงามากกว่า 11,000 แห่ง และส่วนใหญ่ระดมทุนด้วยการกู้เงินจากธนาคารของรัฐ ธนาคารเอกชน บริษัทประกัน และกองทุนรวม ในสัดส่วนราว 50% ของเงินทุนทั้งหมด นับเป็นผู้กู้รายใหญ่ที่สุดในประเทศ แสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินของอินเดียล้วนแบกรับความเสี่ยงจากปัญหาธนาคารเงาร่วมกัน โดยหากธนาคารเงามีการผิดนัดชำระหนี้ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธนาคารของอินเดีย ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารเงาทำให้อินเดียต้องเผชิญกับภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) สะท้อนได้จากคาดการณ์อัตราการเติบโตของสินเชื่อในปีงบประมาณ 2563 ที่มีแนวโน้มลดลงเหลือ 5-7% เทียบกับที่ขยายตัว 13.3% ในปีงบประมาณ 2562
  • มูลค่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Non-performing Asset : NPA) ของภาคธนาคารอินเดียอยู่ในระดับสูง โดยปัญหาเริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งสัดส่วน NPA ของภาคธนาคารในอินเดีย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อยู่ในระดับสูงถึง 5% ทำให้ธนาคารกลางอินเดียพยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การควบรวมธนาคารของรัฐ และการควบคุมธนาคารเอกชนที่มีปัญหา ช่วยให้สัดส่วน NPA ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 9.3% แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงและแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ในภาคธนาคารของอินเดียไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการบริหารงานหากประเมินจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และปัญหาหนี้ที่ไม่มีคุณภาพในระบบ

[หมายเหตุ : สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPA) หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ที่ลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 90 วันนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระ]

 

ที่มาและต้นเหตุปัญหาของ Yes Bank

  • ประวัติ Yes Bank : Yes Bank เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 ถือเป็นธนาคารเอกชนขนาดกลางของอินเดียที่ให้บริการทางการเงินครบวงจรทั้งแก่ลูกค้าองค์กร ลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อย ปัจจุบันมีสาขาครอบคลุมทั้ง 29 รัฐ และ 7 ดินแดนสหภาพของอินเดีย
  • ปัญหาของ Yes Bank : มูลค่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPA) ของ Yes Bank พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจาก5 พันล้านรูปี (ราว 101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ณ เดือนมีนาคม 2559 เป็น 78.8 พันล้านรูปี (ราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ณ เดือนมีนาคม 2562 และ 171.3 พันล้านรูปี (ราว 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ณ เดือนกันยายน 2562 ซึ่ง NPA ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Yes Bank ต้องพยายามระดมทุนเพื่อแก้ปัญหา แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อ Yes Bank และส่งผลให้ Yes Bank ไม่สามารถระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาได้ตามที่ต้องการ
  • ต้นเหตุของปัญหา
  • ผลกระทบจากวิกฤตในภาคธนาคารเงา หลังเกิดการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Infrastructure Leasing and Financial Services Limited (IL&FS) และบริษัท Dewan Housing Finance Corporation Limited (DHFL) ซึ่งเป็นธนาคารเงารายใหญ่ของอินเดีย ในช่วงปี 2561-2562 โดย Yes Bank มีส่วนในการปล่อยกู้ให้กับธนาคารเงาทั้งสองแห่ง รวมถึงธนาคารเงาอื่นๆ ในสัดส่วนถึง 5% ของการปล่อยกู้ทั้งหมด ดังนั้น การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวจึงส่งผลให้หนี้เสียของ Yes Bank เพิ่มสูงขึ้น
  • การบริหารและการกำกับดูแลกิจการที่ไม่โปร่งใส โดย Yes Bank บิดเบือนตัวเลขทางบัญชี และรายงานตัวเลขหนี้เสียต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2563 นาย Rana Kapoor ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Yes Bank ถูกจับกุมในข้อหาฟอกเงิน หลังธนาคารกลางอินเดียเข้าควบคุมการดำเนินงานของ Yes Bank
  • แนวทางการแก้ปัญหาของธนาคารกลางอินเดียต่อกรณีของ Yes Bank : นอกจากการจำกัดการถอนเงินฝากของลูกค้าและการควบคุมการดำเนินงานอย่างเข้มงวดแล้ว ธนาคารกลางอินเดียยังเตรียมดำเนินแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับ Yes Bank รวมถึงการเตรียมลงทุนมูลค่า 5 พันล้านรูปี ในการซื้อหุ้น 49% ของ Yes Bank ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่าหากแผนฟื้นฟูกิจการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะมีส่วนช่วยเรียกความเชื่อมั่นในระบบธนาคารอินเดียให้กลับคืนมา

 

ผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ผลกระทบต่ออินเดีย

  • ภาคการเงิน : ระดับความเสี่ยงต่อภาคการเงินของอินเดียทั้งระบบ (Systemic Risk) ยังใกล้เคียงกับระดับเดิม โดยผลกระทบจำกัดอยู่ที่ความเชื่อมั่นในธนาคารขนาดกลางและเล็กที่ลดลง ซึ่งทำให้เกิดการโยกย้ายเงินฝากไปยังธนาคารขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งกว่า แต่ไม่น่าลุกลามเป็น Domino Effect เนื่องจาก Yes Bank มีสินทรัพย์รวมเพียง 3% ของสินทรัพย์รวมทั้งระบบ
  • ภาคเศรษฐกิจ : ปัญหาที่สะสมในภาคธนาคารส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อเดือนมกราคม 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียปี 2563 เหลือขยายตัว 8% จากคาดการณ์เดิมที่ 6.7% นับเป็นอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับในช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเฉลี่ย 7.5% ต่อปี โดย IMF มองว่าการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัวและปัญหาในภาคธนาคารเงา
  • ภาคอุตสาหกรรม : การเกิดภาวะ Credit Crunch ทำให้หลายภาคธุรกิจในอินเดียได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจยานยนต์ เนื่องจากผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อรถยนต์ได้ ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในอินเดียปี 2562 ลดลงถึง 19% จากปีก่อน ส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งต้องปิดดำเนินการและมีการปรับลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราการว่างงานในอินเดียพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 7% ในเดือนธันวาคม 2562 ภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เงินได้ โดยเฉพาะจากบรรดาธนาคารเงาที่เผชิญภาวะขาดสภาพคล่อง ล่าสุดมีโครงการที่อยู่อาศัยทั่วอินเดียมูลค่ารวม 63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ต้องหยุดก่อสร้างกลางคัน เนื่องจากไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ

ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

  • การส่งออกของไทยไปอินเดียในปี 2563 มีแนวโน้มชะลอตัว จากเศรษฐกิจอินเดียที่ซบเซา จนบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคในอินเดีย โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียที่ทรุดตัว โดยในปี 2562 การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของไทยไปอินเดียหดตัว 7% จากปีก่อน ขณะที่ในเดือนมกราคม 2563 การส่งออกสินค้าหมวดดังกล่าวของไทยไปอินเดียหดตัว 30.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ผู้ส่งออกควรเพิ่มความใส่ใจในข้อมูลธนาคารผู้ซื้อมากขึ้น นอกเหนือจากการพิจารณาฐานะและประวัติของผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว โดยควรติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานะความมั่นคงของธนาคาร เพื่อให้มั่นใจว่าผู้นำเข้าจะสามารถชำระค่าสินค้าผ่านธนาคารดังกล่าวได้

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview