การเงินธนาคาร

จับตาประเด็นเศรษฐกิจโลกปี 2562…ความไม่แน่นอนยังรออยู่

   ปี 2561 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปถือได้ว่าเป็นปีแห่งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลก ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทิศทางและบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับชาติต่างๆ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นปีและยังยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่สร้างความกังวลไปทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ที่ลุกลามในช่วงต้นปี จนหลายฝ่ายเริ่มกังวลถึงภัยสงครามที่อาจเกิดขึ้น แต่ในที่สุดทั้ง 2 ชาติก็สามารถเจรจากันได้หลังจากประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์และประธานาธิบดีคิม จอง อึน ได้พบปะเพื่อเจรจากันที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน ปี 2561 วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มเกิดขึ้นในหลายประเทศเศรษฐกิจใหม่ (Emerging Market) ไม่ว่าจะเป็นเวเนซุเอลา อาร์เจนตินา และตุรกี เป็นต้น รวมถึงความวุ่นวายในประเทศสเปน จากการขอแยกตัวเป็นอิสระของแคว้นคาตาลัน ในช่วงกลางปี ซึ่งแม้หลายเหตุการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี และไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยโดยตรง แต่ก็ส่งผลกระทบทางอ้อมเป็นวงกว้างผ่านช่องทางตลาดเงิน ตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนและอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้นค่อนข้างมาก

   เมื่อมองไปในปี 2562 ที่กำลังจะมาถึง พบว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกยังต้องเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง จากหลากหลายประเด็นทางเศรษฐกิจที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งผู้ประกอบการและนักลงทุนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่

ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ (Debt Ceiling) และความเสี่ยงในการปิดหน่วยงานราชการ (Government Shutdown) ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเรื้อรังของสหรัฐฯ ที่จะกลับมาสร้างความกังวลให้กับทั่วโลกอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ทั้งนี้ ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจนชนเพดานตามกฎหมายซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 20.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2561 ซึ่งในครั้งนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถเจรจากับสภาคองเกรสในการขอขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ทันเวลา ทำให้หน่วยงานราชการหลายแห่งต้องหยุดทำการเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่วันที่ 20-22 มกราคม 2561 เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งในท้ายที่สุดได้มีการแก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรการ “ระงับการใช้เพดานหนี้สาธารณะไว้ชั่วคราว” ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวประเด็นการขอขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าพรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรครีพับริกันได้เสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้พรรครีพับริกันภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์
ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภาอีกต่อไป ส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ต่อจากนี้จะทำได้ยากขึ้น
ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่าการขอขยายเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลจะยากลำบากขึ้นเช่นกันและ
อาจนำไปสู่ Government Shutdown ครั้งใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งก่อให้เกิดความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กำหนดเส้นตายการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) วันที่ 29 มีนาคม 2562 ถือเป็นวันครบกำหนดที่สหราชอาณาจักรต้องแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (European Union : EU) หรือ Brexit ทั้งนี้  Brexit อาจเกิดขึ้นได้ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.Soft Brexit ที่สหราชอาณาจักรยังคงได้สิทธิประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานได้อย่างเสรีเหมือนเดิม แต่อาจถูกจำกัดสิทธิ์ในการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ และไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงหรือให้ความเห็นชอบในกรณีที่ EU เจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ 2.Hard Brexit สหราชอาณาจักรจะถูกตัดสิทธิ์ที่เคยได้รับจาก EU ทั้งหมด แต่ EU จะให้เวลาในการปรับตัว (Transition Period) เป็นเวลา 21 เดือน ก่อนที่ Hard Brexit จะมีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยในช่วง Transition Period ยังเปิดโอกาสให้สหราชอาณาจักรและ EU เจรจาข้อตกลงเพิ่มเติมระหว่างกันได้ และ 3.No-deal Brexit ที่จะเกิดขึ้นหากสหราชอาณาจักรและ EU ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ โดย No-deal Brexit จะเป็นการแยกตัวแบบเด็ดขาดและทันทีหลังวันที่ 29 มีนาคม 2562 ซึ่งจะมีผลทำให้การค้าการลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU ที่มีมานานกว่า 40 ปียุติลงทันที ทั้งนี้ ด้วยเส้นตายที่กระชั้นเข้ามา ประกอบกับการเจรจาที่ยังแทบไม่มีความคืบหน้าและไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้
ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าอาจเกิดการแยกตัวแบบ No-deal Brexit ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและ EU อย่างรุนแรงจนอาจกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังหวังว่าการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU จะสามารถหาทางออกร่วมกันได้ โดยเฉพาะในการประชุม EU Summit
ในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งถือเป็นการประชุม EU Summit ครั้งสุดท้ายก่อนถึงกำหนดเส้นตาย Brexit หรืออย่างน้อย
ก็เลื่อนเส้นตายของ Brexit ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ออกไปก่อน ซึ่งสามารถทำได้หากได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก EU ทุกประเทศ เพื่อลดผลกระทบจาก No-deal Brexit

ญี่ปุ่นเตรียมขึ้นภาษีการค้า (Sales Tax) รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดการปรับขึ้นภาษีการค้า หรือในบ้านเราอาจรู้จักในชื่อภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 8% เป็น 10% ในเดือนตุลาคม 2562 ตามแผนการปฏิรูปด้านการคลังและแก้ปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ แต่เดิมรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการปรับขึ้นภาษีการค้าจาก 5% เป็น 8% ในปี 2557 และมีแผนจะขึ้นภาษีการค้าจาก 8% เป็น 10% ตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ตาม หลังจากญี่ปุ่นขึ้นภาษีการค้าในปี 2557 จาก 5% เป็น 8% ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งในทางทฤษฎี
ถือว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ทำให้แผนการขึ้นภาษีการค้ารอบที่ 2 ในปี 2558 จาก 8% เป็น 10% ถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่าหากรัฐบาลญี่ปุ่นขึ้นภาษีการขายตามกำหนดในปี 2562 อาจส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งซ้ำรอยกับการขึ้นภาษีรอบล่าสุดใน
ปี 2557 จึงมีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีการค้าดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างเปราะบาง และทิศทางการค้าการลงทุนของโลกที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจาก
สงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนโดยยืนยันว่ารัฐบาลจะขึ้นภาษีการค้าตามแผนที่กำหนดในปี 2562 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับไทยในระดับสูง ทั้งในด้านการค้าการลงทุน อยู่ในภาวะ
น่ากังวลอีกครั้งหนึ่งและอาจส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นความเสี่ยงมาตั้งแต่ปี 2561 และคาดว่าจะยังยืดเยื้อและพร้อมปะทุขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่  ทิศทางนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น ปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงจึงถือเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความท้าทายต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออกท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีเข้ามาตลอดทั้งปี แม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่า ในท้ายที่สุดประเด็นความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะมีการหาทางออกร่วมกันได้โดยกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมน้อยที่สุด และอาจไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมากนัก แต่ในระยะสั้น ประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่างๆ จากทิศทางตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกจำเป็นต้องจับตามองสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน การปิดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจกระทบต่อการทำธุรกิจ ยังถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นการประกันการส่งออก การประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ ตลาด CLMV และตลาดแอฟริกา เพื่อชดเชยตลาดหลัก ทั้งสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview