การเงินธนาคาร

จับตา 4 สมรภูมิสงครามการค้า...ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

   ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจและการค้าโลกถูกขับเคลื่อนภายใต้บริบทของ “การค้าเสรี” ด้วยแนวคิดที่ว่า การค้าเสรีจะช่วยสร้างและกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ดีที่สุดและทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ในช่วงที่ผ่านมานโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ล้วนเดินไปตามแนวคิดการค้าเสรีที่มุ่งเน้นขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันเป็นหลัก ดังเห็นได้จากความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements : FTAs) ที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละภูมิภาค อาทิ EU NAFTA AEC หรือแม้แต่การเกิดขึ้นขององค์การการค้าโลกหรือ WTO ในปี 2538 ก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจและการค้าโลกดำเนินไปตามแนวทางของการค้าเสรีทั้งสิ้น

   อย่างไรก็ตาม บริบทของการค้าเสรีกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่ง “สงครามการค้า” นำโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำในการผลักดันการค้าเสรี ซึ่งสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าวได้สร้างความวิตกไปทั่วโลกว่าจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจนอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย ที่ล้วนแล้วแต่พึ่งพาภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ  ที่อาจโดนหางเลขไปด้วยในฐานะที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของโลก ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 4 สมรภูมิสงครามการค้าที่กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่

   สหรัฐฯ – จีน ถือเป็นความขัดแย้งที่สร้างความกังวลและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลก และมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมกันกว่า 23% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งโลก ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้กลายเป็นสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบเมื่อสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25% จำนวน 818 รายการ อาทิ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ขณะที่จีนดำเนินการตอบโต้แบบทันควัน โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่อัตรา 25% เช่นกันจำนวน 545 รายการ อาทิ รถยนต์ ถั่วเหลือง เนื้อวัว เนื้อหมู อาหารทะเล เป็นต้น มูลค่าราว 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ยังเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนระลอกที่สองอีกจำนวน 284 รายการ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และพลาสติก เป็นต้น คิดเป็นมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

สหรัฐฯ – EU สหรัฐฯ ประกาศใช้นโยบายขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากทุกประเทศ เป็น 25% และ 10% ตามลำดับ มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 แต่ในตอนนั้นสหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการดังกล่าวกับบางประเทศ รวมถึง  EU แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งถือเป็นชาติพันธมิตรกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อการยกเว้นการใช้มาตรการดังกล่าวกับ EU แคนาดา และเม็กซิโก สิ้นสุดลงในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 สหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะไม่ขยายระยะเวลายกเว้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมให้กับ EU แคนาดา และเม็กซิโก อีกต่อไป ทำให้เหล็กและอะลูมิเนียมจาก EU  ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ 25% และ 10% ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นการจุดชนวนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ EU  โดย EU ได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 25%
ในหลายสินค้า อาทิ เหล็กและอะลูมิเนียม ข้าวโพด ถั่วลิสง เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์บางชนิด กางเกงยีนส์ และรถจักรยานยนต์ คิดเป็นมูลค่านำเข้าราว 2,800 ล้านยูโร เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ซึ่งหลังจากที่ EU ออกมาตรการตอบโต้ดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่าอาจใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU เพิ่มเติม โดยพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอาจมีการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จาก EU เป็น 20% ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า
หากมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จริงจะยิ่งจุดไฟสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ EU ให้รุนแรงขึ้น และ EU คงมีการตอบโต้กลับด้วยมาตรการที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของ EU โดยเฉพาะเยอรมนีที่ถือเป็นผู้นำกลุ่ม EU โดยในปี 2560 เยอรมนีส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ เกือบ 500,000 คัน

   สหรัฐฯ – แคนาดา ชนวนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดา มีลักษณะเหมือนกับกรณีของสหรัฐฯ และ EU คือ สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะยืดอายุการยกเว้นการใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก EU แคนาดา และเม็กซิโก และเริ่มเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาที่ 25% และ 10% ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ทำให้แคนาดาตัดสินใจใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เก็บภาษีนำเข้าที่ 10% อาทิ กาแฟ ซอสมะเขือเทศ กระดาษชำระ เครื่องครัว เป็นต้น คิดเป็นมูลค่านำเข้าราว 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ปัจจุบัน ทั้งสหรัฐฯ และแคนาดาจะยังไม่มีทีท่าว่าจะนำมาตรการด้านภาษีมาใช้ในการตอบโต้กันเพิ่มเติม แต่หลายฝ่ายมองว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากมีพรมแดนติดกันทำให้มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยสถาบันวิจัย C.D.Howe Institute ประเมินว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดาในปัจจุบันจะกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาราว 0.33% และทำให้มีคนตกงานราว 6,000 ตำแหน่ง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะกระทบเพียง 0.02% แต่อาจทำให้มีคนตกงานราว 22,000 ตำแหน่ง

   สหรัฐฯ – เม็กซิโก มีจุดเริ่มต้นเหมือนกับกรณีของสหรัฐฯ – EU และ สหรัฐฯ – แคนาดา คือ หลังจากที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแม็กซิโกเป็น 25% และ 10% ตามลำดับ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ทำให้เม็กซิโกออกมาตรการตอบโต้ โดยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 20-25% ในหลายสินค้า อาทิ เนื้อหมู ชีส
มันฝรั่ง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บางชนิด เป็นต้น คิดเป็นมูลค่านำเข้าราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้
หลายฝ่ายเริ่มจับตามองและมีความกังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโกมากขึ้น หลังจากที่
นายอังเดร มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ หรือ อัมโล ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเม็กซิโกคนใหม่เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายอัมโลเป็นผู้ที่ออกมาต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ (Trumponomic) อย่างรุนแรงตั้งแต่ก่อนได้รับการเลือกตั้ง ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโกอาจปะทุขึ้นอีกครั้งหลังจากที่นายอัมโลเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ
ในเดือนธันวาคม 2561

    สำหรับผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อการส่งออกของไทยสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีโดยตรง ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากทุกประเทศ รวมถึงไทยเป็น 25% และ 10% ตามลำดับ แม้การขึ้นภาษีในสินค้าดังกล่าวของสหรัฐฯ จะมีเป้าหมายไปที่จีน และ EU ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสำคัญไปยังสหรัฐฯ แต่ไทยก็โดนหางเลขจากการขึ้นภาษีดังกล่าวกับทุกประเทศไปด้วย ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่มีมาตรการขึ้นภาษีในเดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นมา โดยมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม)  หดตัว 13% จากที่เคยขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า

สินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของคู่ขัดแย้ง แม้การประเมินผลกระทบที่ชัดเจนจะเป็นไปได้ยาก แต่ส่วนใหญ่จะมีความกังวลต่อผลกระทบในมิติดังกล่าวใน 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของโลก ทั้งนี้ หากพิจารณาทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพบว่ามีเพียงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น ที่มีการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันในสินค้ายานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์น่าจะได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของจีน โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า และสินค้าในกลุ่มคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 13% และ 11% ของมูลค่าส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งสินค้าบางส่วนถูกส่งออกไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง ทำให้นำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทยน้อยลงตามไปด้วย สินค้าในกลุ่มยานยนต์ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบไปจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.3% และการส่งออกส่วนหนึ่งเป็นการใช้ภายในประเทศจีนเองซึ่งไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ มีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐฯ – EU และ สหรัฐฯ – เม็กซิโก ซึ่งหากมีการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์เพื่อตอบโต้ระหว่างกัน ไทยอาจได้รับผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบไป EU และเม็กซิโกคิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่า 10% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดในหมวดดังกล่าว

   ในทางตรงกันข้าม มีสินค้าที่ไทยอาจได้อานิสงส์จากสงครามการค้าในครั้งนี้ ซึ่งได้แก่สินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียด พบว่า ประเทศคู่ขัดแย้งของสหรัฐฯ ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น  จีน EU แคนาดาและเม็กซิโก จะใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งหลายฝ่ายให้ความเห็นว่าฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ทำให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยบางรายการอาจได้อานิสงส์จากการที่ประเทศคู่ขัดแย้งของสหรัฐฯ อาจหันมานำเข้าสินค้าจากไทยแทน

   ผลกระทบจากสงครามการค้าในครั้งนี้อาจมากกว่าที่มีการประเมินไว้ หากทุกประเทศยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการนำมาตรการตอบโต้ทางการค้ามาใช้เพิ่มเติม เนื่องจากในระยะยาวสงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทุกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคู่กรณีเกือบทุกประเทศ ทั้ง สหรัฐฯ จีน EU แคนาดา และแม็กซิโก ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 65% ของเศรษฐกิจโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันราว 60% ของมูลค่าการค้าโลก ทำให้หากสงครามการค้ายังยืดเยื้อออกไป ก็มีความเป็นไปได้ที่จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยเป็นวงกว้างในทุกกลุ่มสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview