การเงินธนาคาร

Global Recession...เสียงแห่งความกังวลที่เริ่มดังขึ้น

   ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์และผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจหลายท่านออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับ “ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Global Recession)” ที่เริ่มมีสัญญาณว่าอาจเกิดขึ้นในระยะอันใกล้ ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Bank of America Merrill Lynch ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนทั่วโลกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2562 โดย 1 ใน 3 ของนักลงทุนที่ตอบแบบสำรวจให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงที่น่ากังวลที่สุดสำหรับนักลงทุนในปี 2562 ได้แก่ “ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย”

   ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยถูกตอกย้ำอีกครั้ง ภายหลังจากที่ Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2551 ได้ออกมาแสดงความเห็นระหว่างการประชุม World Government Summit ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปลายปี 2562 โดย Paul Krugman ได้พูดถึง 3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งได้แก่

1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ดูเหมือนว่าทางฝั่งสหรัฐฯ จะได้เปรียบจีนอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากความขัดแย้งในเชิงนโยบายระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านของสหรัฐฯ จนนำไปสู่การปิดหน่วยงานราชการบางแห่ง (Government Shutdown) เป็นเวลากว่า 1 เดือน ท่ามกลางทิศทางดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ (Economist Survey) ซึ่งจัดทำเป็นประจำทุกปีโดย The Wall Street Journal ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า 25% ของกลุ่มสำรวจทั้งหมด เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงสุดในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ผลสำรวจในปี 2554 และเพิ่มขึ้นมากจากผลสำรวจในปี 2561 ที่มีเพียง 13% เท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

   ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ Paul Krugman มองว่าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงสิ้นปี 2562 ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ซึ่ง Krugman มองว่าในท้ายที่สุด สงครามการค้าดังกล่าวจะย้อนกลับมาทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง โดย Krugman ได้เขียนอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “How goes the trade war…Consumer, not foreigners, are paying the Trump tariffs” เผยแพร่ในเว็บไซต์ The New York Time เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดย Krugman สมมติว่าเดิมสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนในราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรัฐบาลขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25% ทำให้ราคาสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 125 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจไม่ได้กระทบต่อรายได้ประชาติชาติ (National Income) มากนัก เพราะหากสหรัฐฯ ยังนำเข้าสินค้าจากจีน แม้ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ จะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 25 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มดังกล่าวจะเป็นการจ่ายภาษีนำเข้าให้แก่รัฐ ซึ่งรัฐบาลอาจนำเงินภาษีนำเข้าที่ได้มาไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในทางอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 25% จะก่อให้เกิดทางเลือก 2 ทางได้แก่

เปลี่ยนมานำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น อาทิ เม็กซิโกหรือเวียดนามที่ไม่มีภาษีนำเข้า โดย Krugman มองว่าสินค้าจากเม็กซิโกหรือเวียดนามอาจมีต้นทุนที่แพงกว่าจีนบ้าง โดยสมมติให้มีราคาที่ 115 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากที่จีนถูกตั้งภาษีนำเข้า 25% ทำให้คนเลือกที่จะนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกหรือเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าจีน ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น 15 ดอลลาร์สหรัฐ ในการนำเข้าจากเม็กซิโกและเวียดนาม โดยที่รัฐก็ไม่สามารถเก็บภาษีนำเข้าได้เลย ทำให้รายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ ในกรณีนี้ลดลงจากเดิม 15 ดอลลาร์สหรัฐ

เปลี่ยนมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ การขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 25% ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ใกล้เข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ (Full Employment) ทำให้อาจต้องมีการโยกย้ายแรงงานบางส่วนมาผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน ซึ่งแน่นอนว่าจะมีค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เนื่องจากปัจจุบัน สหรัฐฯ เน้นผลิตและส่งออกสินค้าในกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ดังนั้น การเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อมาผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีมูลค่าเพิ่มลดลงจะทำให้รายได้ประชาชาติโดยรวมของสหรัฐฯ ลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ยังกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออกโดยรวมของประเทศ

   Krugman ประเมินว่าจากสงครามการค้ากับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐฯ ดำเนินการแล้วจนถึงปัจจุบันทำให้รายได้ประชาชาติโดยรวมหายไปปีละ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือไม่ถึง 0.1% ของ GDP สหรัฐฯ ซึ่งอาจไม่มากนัก แต่หากมีการขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามแผนของประธานธิบดีโดนัล ทรัมป์จะยิ่งทำให้ความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นและอาจฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด

2. ความเสี่ยงจากฟองสบู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Tech Bubble) อีกหนึ่งประเทศความเสี่ยงที่ Krugman กล่าวถึงว่าอาจเป็นความเสี่ยงที่จะนำเศรษฐกิจโลกไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ ฟองสบู่ในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แม้จะไม่ได้พูดถึงในรายละเอียดแต่ประเด็นเรื่องฟองสบู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเริ่มถูกกล่าวถึงมากขึ้นเมื่อราคาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Apple, facebook หรือ Amazon ปรับลดลงกว่า 30% จากจุดสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับแวดวงธุรกิจ Start-up ที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อ Uber, Lyft, LinkedIn หรือsnapchat ซึ่งถือเป็นธุรกิจ Start-up ที่ประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จเมื่อวัดจากฐานลูกค้าและจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจ แต่หลายบริษัท Start-up ชื่อดังกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น Uber ที่ขาดทุนราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 Lyft ขาดทุนราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 หรือ snapchat ที่ขาดทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ (the National Bureau of Economic Research) ประเมินว่า 80% ของธุรกิจ Start-up ประสบภาวะขาดทุน มีเพียงราว 20% เท่านั้นที่สร้างกำไรจากธุรกิจได้ ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทกลุ่ม Start-up สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง (over-value) ราว 50% ซึ่งภาวะดังกล่าวนำมาสู่ความกังวลถึงฟองสบู่ของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่อาจแตก และซ้ำรอยวิกฤต dotcom crisis ในปี 2543 ที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย

3. เศรษฐกิจยุโรปใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ Paul Krugman ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) กำลังใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยตาม โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ EU เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเหลือขยายตัว 1.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่ใน EU ก็พบว่ามีทิศทางที่ไม่ค่อยดีนัก โดยล่าสุดเศรษฐกิจอิตาลี ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ใน EU หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน (เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2561 ซึ่งถือว่าได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน EU กำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน โดยในไตรมาส 4 ปี 2561 เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัว 0% (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความปั่นป่วนวุ่นวายในอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีสัดส่วนราว 20% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด หลังจากที่ค่ายรถยนต์สัญชาติเยอรมนีหลายค่ายถูกตรวจสอบพบว่าได้ทำการบิดเบือนผลการตรวจสอบมาตรฐานการปล่อยไอเสีย (Automobile Emission Standard) ในห้องทดสอบ โดยไม่สามารถรักษามาตรฐานการปล่อยไอเสียดังกล่าวได้จริงในการใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ต้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อลดการปล่อยไอเสีย รวมถึงการเรียกคืนรถยนต์บางส่วน โดยรัฐบาลเยอรมันจะเริ่มทะยอยห้ามใช้รถยนต์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการปล่อยไอเสียในเมืองต่างๆ ทั่วเยอรมันในปี 2562 ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมันเผชิญกับภาวะซบเซาและกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจฉุดเศรษฐกิจเยอรมันให้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งแน่นอนว่าหากเศรษกิจยักษ์ใหญ่ใน EU อย่างเยอรมันเข้าสู่ภาวะถดถอยตามรอยอิตาลีจริง เศรษฐกิจ EU ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยตามและคงกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

   แม้จะยังไม่มีใครทราบว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปลายปีนี้จริงอย่างที่ Paul Krugman ทำนายไว้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถรับรู้ได้คือเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออก ที่ธุรกิจมีความอ่อนไหวต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การทำประกันการส่งออก รวมถึงการรักษาสถานทางการเงินและสภาพคล่องอย่างเหมาะสมก็น่าจะช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถผ่านพ้นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบันไปได้

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview