การเงินธนาคาร

สงครามการค้า : ใครเจ็บมาก…เจ็บน้อยกว่ากัน?

นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนปะทุขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 อัตราขยายตัวของการค้าโลกชะลอลงต่อเนื่อง และเริ่มเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2562 ที่การค้าโลกเริ่มหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยจากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่าการส่งออกรวมของทั้งโลกในช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 หดตัว 2.8% คิดเป็นมูลค่าส่งออกที่หายไปราว 2.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 0.3% ของ GDP โลก ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ล่าสุดของ IMF ที่ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2562 ลงจาก 3.3% เหลือ 3.0% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 

ทั้งนี้หากพิจารณามูลค่าส่งออกของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย (คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของมูลค่าส่งออกรวม) พบหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

- เอเชียกับยุโรปเจ็บหนักสุด ประเทศที่มีมูลค่าส่งออกลดลงมากส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ใน 2 ภูมิภาคหลักคือ เอเชียและยุโรป มีเพียงบราซิลซึ่งอยู่ในลาตินอเมริกา
 - ใครเอี่ยวกับจีนมากจะเจ็บหนัก ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ที่มูลค่าส่งออกลดลงมากล้วนเป็น Supply Chain สำคัญของจีน และ/หรือพึ่งพาการส่งออกไปจีนในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกไปจีน 11% ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกรวมของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัว 2.9% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกที่ลดลงกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศที่การส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าไทย อาทิ เกาหลีใต้ (พึ่งพาการส่งออกไปจีน 27%) ญี่ปุ่น (20%) ฮ่องกง (55%) สิงคโปร์ (12%) อินโดนีเซีย (15%) มาเลเซีย (14%) ไต้หวัน (29%) รวมถึงบราซิลที่ส่งออกไปจีนถึง 27% โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์
- ใครเอี่ยวกับสหรัฐฯ มากมีแนวโน้มเจ็บตัวน้อยกว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าไทยในแง่การส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่าตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์ สะท้อนได้ว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ช่วยดูดซับผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้าในประเทศเหล่านั้นได้ระดับหนึ่ง ซึ่งแม้แต่ไทยเองก็ได้อานิสงส์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 ที่ขยายตัวถึง 17% ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ถือว่าขยายตัวได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทำให้สหรัฐฯ ยังต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ มาทดแทนสินค้าจีนที่มีราคาแพงขึ้นจากภาษี สะท้อนได้จากมูลค่านำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 ที่ไม่ได้ลดลงตามที่หลายฝ่ายคาด โดยยังขยายตัวได้ 0.2% สวนทางกับมูลค่านำเข้าของจีนที่หดตัวราว 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน

-  ยุโรปถูกซ้ำเติมจากปัจจัยภายในภูมิภาค มูลค่าส่งออกของประเทศในยุโรปที่ลดลงมาก
ทั้งเยอรมนี อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส อาจมีสาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจยุโรปเองที่ชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของภูมิภาคทั้งเยอรมนีและสหราชอาณาจักรที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ Technical Recession จาก GDP ไตรมาส 1 ปี 2562 ที่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ การที่ประเทศในยุโรปค้าขายกันเอง (Intra-regional Trade) กว่า 65% ของการค้าทั้งหมด แต่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดคู่กรณีอย่างสหรัฐฯ และจีนสัดส่วนรวมกันราว 11% เท่านั้น มูลค่าส่งออกที่ลดลงจึงอาจมีสาเหตุจากสงครามการค้าเพียงบางส่วน
-  คู่กรณีที่ก่อสงครามกลับเจ็บตัวน้อย จากตัวเลขผลกระทบต่อการส่งออกและ GDP ข้างต้นพบว่าสหรัฐฯ และจีนแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทั้งสองประเทศมีภูมิต้านทานที่ดี โดยสหรัฐฯ ได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่จีนก็ได้ตัวช่วยจากนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่พร้อมเข้ามาประคับประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะการลงทุนซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาทั้งจีนและสหรัฐฯ ได้ใช้กลยุทธ์การลงทุนนำการค้า (Investment-induced Trade) อย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าไปลงทุนในประเทศปลายทางเพื่อสร้างตลาดให้กับสินค้าของตนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้มีการเชื่อมโยง Supply Chain ระหว่างประเทศแม่และประเทศปลายทางมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมได้บางส่วน  
- อุปสงค์ในประเทศเป็นเกราะกำบังสงครามการค้าชั้นดี มีข้อสังเกตว่าหลายประเทศที่การส่งออกได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ดังเห็นได้จากมูลค่าส่งออกที่หดตัวลงมาก แต่เศรษฐกิจในภาพรวมกลับได้รับผลกระทบไม่มากนัก อาทิ บราซิล สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งมูลค่าส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2562 ของทุกประเทศหดตัวมากกว่าไทยทั้งสิ้น แต่ผลกระทบต่อ GDP กลับน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับไทย เนื่องจากประเทศเหล่านี้พึ่งพา
อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ


- มีสัญญาณการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกมากขึ้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยมีจีนเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “Factory of the World” ดังนั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงถือเป็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง “ผู้ผลิตและส่งออกสินค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก” อย่างจีน กับ “ผู้บริโภคและนำเข้าสินค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก” อย่างสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ลดลง 12% คิดเป็นมูลค่าราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจีนและบรรดาประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การที่มูลค่านำเข้าโดยรวมของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ลดลง แต่กลับขยายตัวได้ราว 0.2% สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากตลาดอื่นๆ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน โดยเฉพาะเม็กซิโก เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวสูง สอดคล้องกับข้อมูลในตารางที่ 1 ที่ระบุว่าทั้ง 3 ประเทศข้างต้นเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงยืดเยื้อ อาจทำให้จีนลดบทบาทในฐานะของการเป็น “Factory of the World” ลงไป ขณะที่ฐานการผลิตอาจเริ่มย้ายออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม อินเดีย และเม็กซิโก ที่อาจก้าวขึ้นมาเป็น “The New Factories of the World” แทนที่จีนในบางส่วน

   ในส่วนของประเทศไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบของสงครามการค้าในครั้งนี้ที่อาจยืดเยื้อเป็นเวลานาน ควบคู่ไปกับการสร้างเกราะป้องกันสำหรับสงครามการค้าหรือมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไป ทางออกในระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการไทยคือการกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาด New frontiers ซึ่งกำลังซื้อยังเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อาทิ CLMV แอฟริกา ลาตินอเมริกา เป็นต้น หรือกระจายการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรงจากการที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนไปยังตลาดหลบภัยอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้า อาทิ การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าไปเม็กซิโก หรือส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบไปตลาดอินเดีย แคนาดา เป็นต้น สำหรับทางออกในระยะยาว ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการผลักดันการลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และมีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีโลกอย่างยั่งยืนในระยะยาว

Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview