การเงินธนาคาร

ธนาคารเพื่อการพัฒนา ... ฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจแอฟริกา

ธนาคารเพื่อการพัฒนา ... ฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจแอฟริกา

 

โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล  

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

          หนึ่งในสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากนัก นั่นคือ ธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือ Development Bank ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนามีตั้งแต่องค์กรระดับโลกไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งแต่ละองค์กรล้วนมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้วยการเป็นแหล่งเงินทุน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและความรู้เฉพาะทางต่างๆ อันจะเป็นฐานรากสำคัญสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

 

          ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับโลกที่คุ้นเคยกันดีอย่างธนาคารโลก (World Bank) นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดย World Bank ให้ความช่วยเหลือนานาประเทศผ่านรูปแบบทางการเงิน อาทิ เงินให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงความช่วยเหลือทางเทคนิค เป็นต้น ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาคก็มีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพอีกแห่งหนึ่งของโลกที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและต้องการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก ADB จึงเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียมาโดยตลอด โดย ADB เป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนในเอเชียจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ในเอเชีย อาทิ เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) รวมถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย สปป.ลาว และเวียดนาม

 

          ขณะที่อีกฟากหนึ่งของโลกก็มีตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโตและอยู่ในช่วงของการเร่งพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับเอเชียเมื่อหลายปีก่อน นั่นคือ ทวีปแอฟริกา ซึ่งความต้องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคมีแนวโน้มขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะด้านพลังงาน ล่าสุดรายงานจาก African Economic Outlook 2018 ระบุว่าความต้องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Needs) ของทวีปแอฟริกามีมูลค่าสูงถึง 130,000-170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สะท้อนถึงความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาคยังมีอีกมาก อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในแอฟริกาไม่สามารถพัฒนาโครงการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนเงินลงทุน ส่งผลให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาของภูมิภาคแอฟริกาอย่าง African Development Bank Group (AfDB) และ Export-Import Bank of Africa (AFREXIM) ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนให้โครงการลงทุนต่างๆ ในแอฟริกาเกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศต่างๆ

 

          อย่างไรก็ตาม แหล่งเงินทุนจาก AFREXIM และ AfDB ที่จะสามารถรองรับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกามีไม่เพียงพอ ธนาคารทั้งสองแห่งจึงได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ อาทิ World Bank, ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ Export-Import Bank of China (China EXIM) เป็นต้น เพื่อร่วมกันสนับสนุนเงินทุนให้แก่โครงการลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคแอฟริกา ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเติมเต็มความต้องการทางการเงินเพื่อให้โครงการลงทุนสามารถเดินหน้าตามแผนที่วางไว้

 

 

          จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นสะท้อนได้ว่า Development Bank หลายแห่งต่างเล็งเห็นศักยภาพของทวีปแอฟริกาว่าเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่ยังต้องการเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด ธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่าง Export-Import Bank of India ของอินเดียก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการปล่อยกู้ร่วม (Co-financing) กับ AfDB ในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะโครงการพลังงานและระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น โดยในปัจจุบัน

Export-Import Bank of India มีสำนักงานผู้แทนอยู่ในหลายประเทศแล้ว ได้แก่ แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย

และโกตดิวัวร์ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการสนับสนุนเพื่อทำการค้าระหว่างแอฟริกา-อินเดีย

 

           ธนาคารเพื่อการพัฒนาของแอฟริกานับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง อันเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศซึ่งจะช่วยเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของแอฟริกาเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวแอฟริกันให้สูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคที่จะเปิดกว้างอีกมากในระยะถัดไป  

 

 

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • มองโอกาสการค้าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ : Case Study ทวีปแอฟริกา

    ความน่าสนใจของตลาดประเทศกำลังพัฒนามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว บวกกับความเสี่ยงอีกหลายด้านที่ยังแฝงตัวอยู่ และยากที่จะประเมินความเสียหายหากเกิด...

    calendar icon15.02.2019
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
Tag
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview