การเงินธนาคาร

จับทิศทางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจจีนหลังวิกฤต COVID-19

การดำเนินมาตรการ Lockdown เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งจีน ต้องเผชิญภาวะหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยเป็นการหดตัวอย่างกะทันหันของอุปสงค์ (Demand Shock) ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งแม้ปัจจุบันจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในจีนจากยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมที่ขยายตัว 0.5% (y-o-y) นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในปี 2563 แต่ก็ยังไม่กลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ขณะที่อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศยังคงอ่อนแอและมีความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์แพร่บาดระลอกใหม่ที่รุนแรงในหลายประเทศ ขณะเดียวกัน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ขยายสมรภูมิสู่สงครามเทคโนโลยีที่รุนแรงขึ้นจากการที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีของจีนเป็นวงกว้างเพื่อกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีและสกัดกั้นการขยายตลาดของบริษัทจีน ล่าสุดได้ประกาศคว่ำบาตรบริษัท SMIC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนต้องเผชิญความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ทั้งนี้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนรอบด้าน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ริเริ่มแนวคิด Dual Circulation ขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวนโยบายในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงและเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจจีนเดินหน้าต่อไป

Dual Circulation…แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า

     Dual Circulation หรือ นโยบายสนับสนุนการหมุนเวียนเศรษฐกิจคู่ขนาน เป็นแนวทางการพัฒนาที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเน้นการพึ่งพาการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสองกระแสควบคู่และเกื้อหนุนกัน คือ Internal Circulation (การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ) และ External Circulation (การหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างประเทศ) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันนโยบายดังกล่าวกำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากจะใช้เป็นแนวทางในการกำหนด
ทิศทางการพัฒนาของจีนภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ทั้งนี้ นโยบาย Dual Circulation มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

    Internal Circulation : มุ่งส่งเสริมอุปสงค์ในประเทศควบคู่กับการปรับโครงสร้างอุปทาน

  • การส่งเสริมอุปสงค์ในประเทศ โดยเร่งกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพื่อให้เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังชะลอตัว โดยปัจจุบันสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนของจีนอยู่ที่ราว 40% ต่อ GDP ซึ่งยังต่ำกว่าการบริโภคภาคเอกชนของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ 68% และ 55% ตามลำดับ แสดงถึงโอกาสที่จะผลักดันการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวได้อีก ทั้งนี้ แนวนโยบายในการผลักดันคาดว่าจะเน้นขยายความเป็นเมืองออกไปในพื้นที่ชนบทและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนมากขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ของประชากรในชนบทที่มีจำนวนกว่า 700 ล้านคน ซึ่งรวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้พัฒนาภาคเกษตรกรรมให้ก้าวสู่การเกษตรดิจิทัลเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการสร้างช่องทางการค้าผ่าน E-Commerce ด้วยการเร่งเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบทให้ได้ราว 70% ภายในปี 2568 จากระดับ 2% ณ เดือนมีนาคม 2563  
  • การปรับโครงสร้างอุปทาน โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้จีนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่จีนกำลังเผชิญการกีดกันอย่างรุนแรง โดยจีนจะมุ่งส่งเสริมการสร้างสายการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ตลอดจนเร่งส่งเสริมการลงทุนตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 (MIC 2025) โดยล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 จีนได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตชิปและการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมการให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10 ปี การลดหย่อนภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร และชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหลายด้าน โดยเฉพาะการหักลดหย่อนภาษีจากการลงทุนดังกล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่า อุตสาหกรรมการผลิตชิปเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่สหรัฐฯ มุ่งกีดกันจีนในการเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยต้องการสกัดกั้นการขยายตลาดของบริษัทเทคโนโลยีจีน รวมทั้งเกรงว่าเทคโนโลยีการผลิตสำคัญอาจรั่วไหลและทำให้บริษัทจีนสามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีของบริษัทจีนยังตามหลังบริษัทชั้นนำของโลกอยู่มาก สังเกตได้จากความสามารถในการผลิตชิปของจีนมีขนาดเล็กที่สุดได้เพียง 15 นาโนเมตร ขณะที่บริษัท TSMC ของไต้หวัน และ Samsung Electronics ของเกาหลีใต้ สามารถผลิตได้ขนาดเล็กที่สุดที่ 5 นาโนเมตร และกำลังพัฒนาสู่การผลิตขนาด 3 นาโนเมตร จึงทำให้จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าชิปค่อนข้างมาก คิดเป็นราว 15% ของมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมดของจีนในปี 2562 ดังนั้น นโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านการผลิต ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้จีนสามารถพึ่งพาฐานการผลิตในประเทศได้มากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนมีแนวโน้มให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทจีนในการลงทุนด้วยการทำ M&A ในบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติมากขึ้นเพื่อเป็นทางลัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ

    External Circulation : เชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เพื่อให้ภาคการค้าและการลงทุนมีส่วนในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจีนจะประกาศรายละเอียดของยุทธศาสตร์ External Circulation ที่เป็นรูปธรรมในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในการประชุมสภาประชาชนจีนในเดือนมีนาคม 2564 แต่ในเบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าจีนจะยังคงเดินตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างประเทศคล้ายคลึงกับที่ใช้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

  • เปิดกว้างสู่ภายนอก (Opening-up) โดยจีนมีแนวโน้มเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคการเงินและตลาดทุนมากขึ้น รวมทั้งผ่อนคลายกฎระเบียบในการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เงินหยวนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเงินหยวนยังมีสัดส่วนในการทำธุรกรรมต่างประเทศไม่มากนัก โดยมีสัดส่วนในการชำระเงินระหว่างประเทศเพียง 2% เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีสัดส่วนราว 40% นอกจากนี้ จีนจะเร่งดำเนินโครงการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล หรือ e-RMB ให้มากขึ้น ล่าสุดจีนประกาศแผนขยายพื้นที่นำร่องการใช้เงินหยวนดิจิทัลไปยังเมืองสำคัญอย่างกรุงปักกิ่ง เมืองเทียนจิน และกวางตุ้ง รวมทั้งมีแผนจะนำเงินหยวนดิจิทัลมาใช้ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2565 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายการผลักดันให้เงินหยวนก้าวสู่บทบาทการเป็นเงินสกุลสากล
  • สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับกลุ่มประเทศ BRI (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์สำคัญของจีน อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน ปากีสถาน และแอฟริกา ด้วยการเดินหน้าสานต่อโครงการลงทุนในกลุ่มประเทศ BRI สะท้อนได้จากมูลค่าการลงทุนของจีนในกลุ่มประเทศ BRI ที่ยังขยายตัวราว 19% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 แม้เผชิญการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ จีนยังได้ลงนามโครงการลงทุนใหม่หลายโครงการในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการในปากีสถาน มูลค่ารวม 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในอินโดนีเซียมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังได้อาศัยจังหวะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศ BRI ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ การส่งอุปกรณ์และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการก่อสร้างสถานพยาบาล ภายใต้โครงการ Health Silk Road ซึ่งจะมีส่วนช่วยปูทางในการส่งออกวัคซีนป้องกัน COVID-19 ไปยังตลาดกลุ่มประเทศ BRI ในระยะถัดไป

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนกับกลุ่มประเทศ BRI โดยเฉพาะในแอฟริกา เนื่องจากจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในหลายประเทศ อาทิ จิบุติ (จีนมีสัดส่วน 57% ของหนี้ต่างประเทศ*) แองโกลา (49%) แคเมอรูน (32%) และเอธิโอเปีย (32%) เป็นต้น ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศดังกล่าวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวจากผลกระทบของ COVID-19 จนต้องขอรับความช่วยเหลือจากจีนในการขอลดหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการชำระที่ผ่อนปรนมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเอื้อให้จีนเข้าถึงโครงการลงทุนในประเทศดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญ  

นัยสำคัญต่อไทย

จากนโยบาย Dual Circulation จะเห็นทิศทางการพัฒนาของจีนอย่างมีนัยสำคัญใน 2 ด้าน คือ การมุ่งเน้นกระตุ้นการเติบโตของตลาดผู้บริโภค และลดการพึ่งพาประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพราะไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างนายโจ ไบเดน ต่างก็มองว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจีนจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก แทนที่สหรัฐฯ ภายใน 5 ปีจากนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงความสำคัญของจีนในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ตลาดผู้บริโภคจีนทวีความสำคัญขึ้น เทียบเคียงกับตลาดหลักอื่นอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ EU ทั้งในแง่ขนาดตลาดจากประชากรจำนวนมหาศาล ไปจนถึงกำลังซื้อของชาวจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจีนจะเลื่อนระดับจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางในปี 2562 (จีนมีรายได้ 10,410 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับสูงภายในปี 2568 ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรทำความเข้าใจและหาทางเจาะตลาดจีน ซึ่งการที่จีนต้องการลดการพึ่งพาชาติตะวันตก ก็ถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่จะหาช่องว่างในการจำหน่ายสินค้าทดแทน อาทิ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูปเครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง นอกจากนี้ ยังควรหาช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง E-Commerce ของจีน โดยในเบื้องต้นอาจทดลองฝากขายสินค้า หรือ หาพาร์ทเนอร์ที่มีร้านค้าในแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ของจีนเพื่อทดลองตลาดก่อน เพราะการขึ้นทะเบียนร้านค้าออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติยังมีความไม่สะดวก อาทิ ต้องมีเบอร์โทรศัพท์ในจีน และมีบัญชีธนาคารที่เปิดในประเทศจีน เป็นต้น
  • ด้านเทคโนโลยีพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทอย่างมากในเวทีการแข่งขันธุรกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G Facial Recognition รถยนต์ไฟฟ้า Artificial Intelligence (AI) สมาร์ทโฟน และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น จึงเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเทคโนโลยีจากจีนในปัจจุบัน อย่างก็ตาม การผลิตสินค้าเทคโนโลยีดังกล่าวของบริษัทจีนก่อให้เกิดห่วงโซ่การผลิตใหม่ของโลก นอกเหนือจากห่วงโซ่เดิมที่มีชาติเจ้าของเทคโนโลยี อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตดังกล่าวของจีน
  • อิทธิพลของจีน ทั้งในมิติการค้าและการลงทุน เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศ BRI ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียนและไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากจีน โดยเฉพาะด้านการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจีนค่อนข้างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน สถานการณ์ดังกล่าวก็ถือเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการไทยจะแสวงหาพันธมิตรผู้ประกอบการจีนในการเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีระหว่างกัน
เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • ส่องนโยบายพญามังกร…เร่งปรับทัพรับมือสงครามการค้า

    สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทั่วโลก เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจน...

    calendar icon25.11.2019
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
Tag
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview