การเงินธนาคาร

การส่งออกของไทย…ในวันที่ราคาน้ำมันแตะ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นในตลาดน้ำมันโลก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 2 วัน จากระดับกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเหลือเพียง 32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือปรับลดลงกว่า 30% เนื่องจากผลการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศ OPEC กับประเทศนอกกลุ่ม OPEC ออกมาไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาด หลังรัสเซียซึ่งเป็นผู้นำประเทศนอกกลุ่ม OPEC

ปฏิเสธข้อเสนอของซาอุดีอาระเบียในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จากเดิมที่ลดลงแล้ว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เพื่อพยุงราคาน้ำมันที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันของโลกลดลงอย่างมาก สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่ม OPEC และเป็นประเทศที่แบกรับภาระการลดกำลังการผลิตมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาเกิดความไม่พอใจ จึงประกาศทำสงครามราคาน้ำมันด้วยการปรับลดราคาขายน้ำมันดิบให้กับลูกค้าทั่วโลกลง 6-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมทั้งจะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตของตัวเองจากเดิม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสงครามราคาน้ำมันระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบขนาดใหญ่อันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลกจะไม่จบลงง่ายๆ และอาจกดดันให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงที่เหลือของปี

          อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงจนแตะระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2559 ก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวมาแล้ว โดยในครั้งนั้นราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงจากราว 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงปลายปี 2558 ไปอยู่ระดับต่ำสุดที่ 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559  หรือปรับลดลงราว 50% ในช่วงเวลา 2 เดือน และทรงตัวในระดับต่ำตลอดไตรมาส 1 ของปี 2559 โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลในกลุ่มนักลงทุนว่าจะเกิดภาวะอุปทานน้ำมันส่วนเกิน (Oversupply) หลังจากเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างจีนชะลอลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี ประกอบกับเป็นช่วงแรกๆ ที่อุปทานน้ำมัน Shale oil ของสหรัฐฯ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจไทย ด้านบวก จะทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ประหยัดเงินในการนำเข้าน้ำมันดิบได้บางส่วน โดยในแต่ละปีไทยนำเข้าน้ำมันดิบเกือบ 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะมีต้นทุนค่าขนส่งลดลง ขณะที่ผู้บริโภคก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายด้านพลังงานที่ลดลง ซึ่งจะหนุนให้อุปสงค์ในประเทศกระเตื้องขึ้น ด้านลบ ราคาน้ำมันที่ลดลงอาจบั่นทอนการส่งออกสินค้าและบริการของไทย ซึ่งจากเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นในปี 2559 พบว่าได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในหลายมิติ ดังนี้

  • การส่งออกของไทยไปประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันหดตัว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ OPEC และรัสเซียซึ่งไทยส่งออกคิดเป็นสัดส่วนรวมกันราว 3% ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ ประเทศเหล่านี้มีรายได้จากการขายน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมีเป็นหลัก ดังนั้น หากราคาน้ำมันลดต่ำลงก็เท่ากับว่าประเทศเหล่านี้มีรายได้ลดลง และอาจทำให้รัฐบาลของประเทศดังกล่าวต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อพัฒนาประเทศลง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของกลุ่มประเทศข้างต้นชะลอตัว ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าส่งออกของไทยไปประเทศที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันลงมาแตะระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล พบว่าหดตัวเกือบทุกประเทศ สวนทางกับมูลค่าส่งออกรวมของไทยในช่วงดังกล่าวที่ขยายตัวได้ราว 2%
  • การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันหดตัว อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงจากราคาส่งออกที่ลดลง โดยปัจจุบันกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม
  • การส่งออกสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวมักเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยปัญหาดังกล่าวจะเข้ามาซ้ำเติมภาวะอุปทานของข้าวและยางพาราที่ล้นตลาดในปัจจุบันมากขึ้นไปอีก
    • ารส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางและรัสเซียซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในประเทศไทยอาจลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวสูงและเป็นกลุ่มลูกค้าอันดับ 1 ที่เข้ามาใช้บริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Medical Tourism) ในประเทศไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวของไทยซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมากจาก COVID-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วงไตรมาส 1 ปี 2559 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวต ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 และอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็หดตัวกว่า 5% เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมที่ขยายตัวถึง 15%
              จะเห็นได้ว่านอกจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย โดยรวมแล้ว ความปั่นป่วนในตลาดน้ำมันก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ผู้ส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสงครามราคาน้ำมันข้างต้นจะจบลงอย่างไร โดยหากรัสเซียเปลี่ยนใจกลับสู่โต๊ะเจรจากับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง
    ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันเด้งกลับได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องปรับกลยุทธ์เพื่อบริหารจัดการความผันผวนของราคาน้ำมันให้ได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทยที่พึ่งพาตลาดที่มีรายได้จากน้ำมันในสัดส่วนสูง และ
    ผู้ส่งออกสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันจำเป็นต้องพิจารณาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแกว่งตัวของราคาน้ำมันอย่างรุนแรงได้บางส่วน
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview